‘อินโนเวชันไทยแลนด์ วีค’ครั้งแรกในไทย

‘อินโนเวชันไทยแลนด์ วีค’ครั้งแรกในไทย

สำนักงานนวัตกรรมฯ จัดงานนวัตกรรมครั้งแรกของไทย “ไอ-อินโนเวชัน ไทยแลนด์ วีค” จัดใหญ่อันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ทั้งโซนแสดงผลงาน วิเคราะห์แนวโน้มอนาคต เวทีจับคู่ธุรกิจและประชุมวิชาการนานาชาติ

สำนักงานนวัตกรรมฯ จัดงานนวัตกรรมครั้งแรกของไทย “ไอ-อินโนเวชัน ไทยแลนด์ วีค” จัดใหญ่อันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ทั้งโซนแสดงผลงาน วิเคราะห์แนวโน้มอนาคต เวทีจับคู่ธุรกิจและประชุมวิชาการนานาชาติ พบกับ 9 รางวัลสุดยอดนวัตกรรมเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ได้จัดงานวันนวัตกรรมแห่งชาติขึ้นในวันที่ 5 ต.ค.ของทุกปี เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย ในปีนี้ได้เปลี่ยนชื่องานเป็น “อินโนเวชัน ไทยแลนด์ วีค” ภายใต้แนวคิด อินโนเวชัน 360 องศา เป็นงานนวัตกรรมระดับประเทศครั้งแรกและใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ใช้งบจัดงาน 8 ล้านบาท


นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เปิดเผยว่า งานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 ต.ค.นี้ ณภิรัชฮอลล์ไบเทค บางนา กิจกรรมแบ่งเป็น 4 โซน ได้แก่ ไอ-โชว์เคส จัดแสดงนวัตกรรมที่โดดเด่นจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและสังคม ในทุกระดับในรูปแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบ สตาร์ทอัพ บุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจ องค์กรนวัตกรรม
โซนถัดมา ไอ-ซีเนริโอ เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มอนาคตนวัตกรรมที่ส่งผลต่อประเทศไทย ได้แก่ นวัตกรรมฐานชีวภาพ นวัตกรรมอุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมการแบ่งปันและบริการ นวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสร้างสรรค์ผลงานได้สอดคล้องกับทิศทางนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้น


โซนที่ 3 ไอ-โซลูชัน พบกับ 60 องค์กรผู้ให้บริการปรึกษาเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างครบวงจรและการจับคู่เจรจาต่อยอดธุรกิจนวัตกรรม และโซนสุดท้าย ไอ-แชร์ เวทีถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการนำความรู้สร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นในหลากหลายด้าน รวมทั้งการประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “การเชื่อมต่อนวัตกรรมฐานวิทยาศาสตร์และธุรกิจเทคโนโลยี 2017” เน้นธุรกิจนวัตกรรมเกษตร และธุรกิจนวัตกรรมอาหาร


ศ.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประธานร่วมจัดงานการประชุมวิชาการและการแสดงนิทรรศการระดับนานาชาติการเชื่อมต่อนวัตกรรมฐานวิทยาศาสตร์และธุรกิจเทคโนโลยี 2017 หรือ SITE CONNECT 2017 กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วม เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาฯ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรสหสาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม ตั้งแต่ปี 2550
การประชุมวิชาการครั้งนี้เนื้อหาครอบคลุม 7 สาขาธุรกิจ วัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมกันผลักดันและส่งเสริมศักยภาพธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนภาคการเกษตรจากเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมและ “เกษตรบริการหรือธุรกิจเกษตร” ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมฐานวิทยาศาสตร์
7 สาขาธุรกิจดังกล่าว ได้แก่ ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ธุรกิจเกษตรดิจิทัล ธุรกิจเครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ธุรกิจการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ ธุรกิจการบริการทางธุรกิจเกษตร และธุรกิจรูปแบบการจัดการฟาร์มแบบใหม่
“ผู้เข้าร่วมการประชุมนอกจากจะได้รับความรู้ และมุมมองใหม่ๆ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในเอเชียและส่วนอื่นๆ ของโลก แล้ว ยังจะสามารถนำประสบการณ์จากการชมนิทรรศการต่างๆ ไปต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกได้” ศ.ศุภวรรณ กล่าว