ทีซีเอ็มซีกรุ๊ปลุย‘ซื้อกิจการ’ต่อยอดธุรกิจ

ทีซีเอ็มซีกรุ๊ปลุย‘ซื้อกิจการ’ต่อยอดธุรกิจ

การเปลี่ยนแปลงของโลกการค้าส่งผลกระทบและสร้าง “โอกาสธุรกิจ” ไปพร้อมๆ เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญทำให้กิจการเก่าแก่กว่า 50 ปี

อย่าง“อุตสาหกรรมพรมไทย”  ภายใต้การกุมบังเหียนของนายกสมาคมกีฬาเทควันโด้แห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “พิมล ศรีวิกรม์” ประกาศ “จัดทัพ-รีแบรนด์ธุรกิจ” ครั้งใหญ่ รองรับยุทธศาสตร์ขยายตลาดระดับโลก

 พิมล ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีซีเอ็มซี กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างทรงตัว ดังนั้นแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจของทีซีเอ็มซีจะให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศมากขึ้น พร้อมเปิดกว้างการลงทุนทุกรูปแบบตามจังหวะและโอกาส ไม่ว่าจะซื้อกิจการ ร่วมทุน พันธมิตรตัวแทนจำหน่าย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโอกาสทางธุรกิจต่างๆ เน้นที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับธุรกิจเดิม

โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ สนใจที่จะซื้ออะไรเพิ่มในปีหน้า ซึ่งเรามีความเชี่ยวชาญตลาดในระดับหนึ่ง อนาคตอังกฤษเป็นตลาดที่น่าจะไปได้ดีในหลายๆ ด้าน”

 อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มีเศรษฐกิจที่โปร่งใส มั่นคง การเมืองมีเสถียรภาพและมั่นคงเช่นเดียวกัน มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ประชาชนมีพื้นฐานการศึกษา การดำรงชีวิตที่ดี ไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งเชื้อชาติสถานะทางการเมือง นับเป็นตลาดที่มีอนาคต 

ทั้งนี้ กิจการครอบครัวภายใต้ “ศรีวิกรม์ กรุ๊ป” โฮลดิ้งคัมปะนี ใช้เป็นกลไกลงทุนในต่างประเทศ โดยเมื่อปี 2558 ได้เข้าซื้อกิจการโรงแรม 1 แห่ง ขนาด 200 ห้อง ในเมืองเรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ เดิมเป็น “บิสสิเนสโฮเทล” ด้วยทำเลที่ดีจะขยายสู่ “ทัวริสต์โฮเทล” มากขึ้น ทำให้มีฐานลูกค้าครอบคลุมทั้งวันธรรมดาและวันหยุด 

นอกจากนี้  ทีซีเอ็มซี ยังได้เข้าซื้อกิจการผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ในอังกฤษ ไล่ตั้งแต่โซฟาอันดับ 8 อัลสตันส์ และเบอร์ 2  ดีเอ็มเอ็ม (ดีเอ็ม มิดแลนด์ส ลิมิเต็ด) ทำให้ขนาดธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของทีซีเอ็มซีก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ทำให้ทีซีเอ็มซีมีความเชี่ยวชาญและเข้าใจระบบธุรกิจในอังกฤษที่พร้อมจะขยายและต่อยอดในอนาคต

จัดทัพ-บุกตลาดโลก

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทีซีเอ็มซี ไล่ซื้อกิจการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าลงทุนใน ที.ซี.เอช ซูมิโนเอะ (ญี่ปุ่น) ผู้ดำเนินธุรกิจผ้าหุ้มเบาะ และพรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ล่าสุดใช้เงินลงทุนกว่า 3,140 ล้านบาท ซื้อธุรกิจพรมเพื่อการพาณิชย์จาก ไทปิง คาร์เปท อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งประกอบด้วยบริษัทผลิตและจำหน่ายพรมในประเทศไทย คือ คาร์เปท อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัทจำหน่ายพรมที่จดทะเบียนในหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ ฮ่องกง สิงคโปต์ มาเก๊า และอินเดีย 

ด้วยความหลากหลายของไลน์สินค้า และเป้าหมายการเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืนในอนาคต ทำให้วันนี้  ทีซีเอ็มซี “จัดทัพธุรกิิจ" รองรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยโครงสร้างธุรกิจใหม่ แบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้น 2. กลุ่มธุรกิจลิฟวิ่ง และ 3.กลุ่มธุรกิจออโตโมทีฟ

พร้อมกันนี้ ได้มีการ “รีแบรนด์” ทั้งเชิงองค์กรจาก "อุตสาหกรรมพรมไทย" เปลี่ยนชื่อเป็น “ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น” ขณะเดียวกันรีแบรนด์สินค้าหัวหอกพรมไทปิง ใช้ชื่อ “รอยัล ไทย” และ “คาร์เปท อินเตอร์” ในการทำตลาดทั่วโลกนับจากนี้

ยุคต่อยอด-สยายปีก 

ทั้งนี้ ปี 2561 ถูกกำหนดเป็นปีเคลื่อนทัพใหญ่ของทีซีเอ็มซี โดยแผนธุรกิจกลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้น มี “รอยัล ไทย” เป็นหัวหอก  นับเป็นแบรนด์ผลิตพรมรายใหญ่ในโลก ครองส่วนแบ่งการตลาด 25%  ภายใต้จุดขายพรมทอเครื่องประเภทแอ็กซ์มินสเตอร์ (Axminster) ลูกค้าหลัก คือ เชนโรงแรมขนาดใหญ่ เช่น แมริออท หลังจากนี้จะขยายฐานลูกค้าและช่องทางจัดจำหน่ายมากขึ้น 

โรงแรมเปลี่ยนพรมทุก 5-7 ปี พฤติกรรมของคู่ค้ามักจะไม่เปลี่ยนแบรนด์เพราะทำงานร่วมกันรู้ไซส์และความต้องการใช้งาน ต้องออร์เดอร์ล่วงหน้าดังนั้นความมั่นคงของผู้ผลิตเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเลือกใช้บริการ”

ขณะที่ “กลุ่มธุรกิจลิฟวิ่ง”  ที่มี 2 ขาหลัก คือ อัลสตันส์ และ ดีเอ็มเอ็ม ในอังกฤษซึ่งเป็นฐานรายได้สำคัญของทีซีเอ็มซี ด้วยกำลังการผลิตสูงกว่าหนึ่งแสนชุดต่อปี สร้างรายได้ 3,000-4,000 ล้านบาทโดยพฤติกรรมการใช้โซฟาจะเปลี่ยนทุก 3-4 ปี ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยในอังกฤษเพิ่มขึ้นต่อเนื่องปีละ 4 หมื่นหลังจะเห็นว่ามีทั้งฐานลูกค้าเก่าและใหม่เติบโตควบคู่กัน 

อัลสตันส์และดีเอ็มเอ็ม จะขยายฐานตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างหาทำเลเปิดโชว์รูมแบรนด์ อล็กซานเดอร์ แอนfด์ เจมส์ (Alexander & James) หนึ่งในแบรนด์ภายใต้ดีเอ็มเอ็ม ที่จะถูกต่อยอดขยายตลาดมากขึ้นนับจากนี้ 

สเต็ปของการสร้างแบรนด์ในไทยจะขยายตลาดต่อเนื่องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง “จีน” ตลาดขนาดใหญ่ ที่ลูกค้าเป้าหมายกลุ่มชนชั้นกลางที่มีไลฟ์สไตล์กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยจุดขายเฟอร์นิเจอร์สัญชาติอังกฤษ 

จากไลฟ์สไตล์สู่ธุรกิจ

พิมล ยังมีกิจการส่วนตัวอีกไม่น้อยโดยอิงไปกับไลฟ์สไตล์และความชอบส่วนตัว  ล่าสุดลงทุน “คอนโดมิเนียม” แบบเอ็กคลูซีพ 30 ห้อง บนเนื้อที่ราว 2 ไร่ ในเมืองนิเซโกะ บนเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อเรื่องทัศนียภาพสวยงามและเป็นแหล่งที่ผู้คนนิยมไปเล่นสกีสโลป  เป็นทำเลที่เปรียบได้กับย่านสี่แยกราชประสงค์ของเมืองไทยเลยทีเดียว 

นอกจากนี้มีแผนทำตลาดจริงจังในธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถสกู๊ตเตอร์แบรนด์ สโกมาดี (Scomadi) สัญชาติอังกฤษ ที่วันนี้ “พิมล” เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่ โดยทุ่มเม็ดเงินกว่า 200 ล้านบาท ลงทุนโรงงานในประเทศไทย ซึ่งจะเป็น “ฐานผลิตใหญ่” รองรับแผนขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป มี 2 รุ่น ได้แก่ 125 ซีซี ราคาเฉลี่ย 1.1 แสนบาท และ 200 ซีซี ราคาเฉลี่ย 1.7 แสนบาท 

"มีดีมานด์จากตลาดเดิมที่มีการส่งออกยุโรปและสหรัฐอยู่แล้ว รวมทั้ง ตลาดใหม่”

สโกมาดี ไม่ใช่แค่รถสกู๊ตเตอร์ แต่จะเป็นตัวตั้งในการต่อยอดธุรกิจ “ไลฟ์สไตล์โปรดักท์” อาทิ เสื้อผ้า แอคเซสซอรี่ต่างๆ ไม่ต่างจาก  “ฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน” ที่คนใช้แบรนด์จำนวนไม่น้อยไม่ใช่ผู้ใช้รถ!! และสร้างเม็ดเงินสะพัดได้อย่างต่อเนื่อง