ปฏิวัติงานแฟร์ ไทยแลนด์ “รสแซ่บ”

ปฏิวัติงานแฟร์ ไทยแลนด์ “รสแซ่บ”

ครั้งแรกบิ๊กงานแฟร์ไทย ฉีกกฎรวบ 3 งานเป็น "งานเดียว-ธีมเดียว" ประกาศจุดยืนไม่วิ่งตามแฟชั่น ถึงพริกถึงขิง สีสันจัดจ้าน เปิดรับทุกวัฒนธรรม เผย4เทรนด์"ตัวตน"คนเอเชีย ให้โลกตะลึง..!!! 

เมื่อโลกและเทรนด์ใหม่มัก“ฉีกกฎเกณฑ์เดิม” ทุกกิจกรรมทางธุรกิจ ย่อมต้องเล่นตามกระแสเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค (ลูกค้า) กรอบเดิม การบ้านชิ้นเดิม วิธีการทำงานแบบเดิมๆ ดูจะใช้งานใช้การไม่ได้อีกต่อไป ในยุคแห่งพลวัต (Dynamic)

เช่นเดียวกับรูปแบบการจัดงานแฟร์นานาชาติ  สินค้าแฟชั่น เครื่องประดับ เครื่องหนัง ของขวัญของชำร่วย” ที่รูปแบบการจัดงานกำลังจะเปลี่ยนไป แบบจัดบูธๆล็อกๆแยกประเภทสินค้าที่จัดงานชัดเจน รองเท้าก็ร้องเท้า เฟอร์นิเจอร์ก็มีแต่เฟอรนิเจอร์ แล้วดึงคนมาชมงาน อาจไม่ใช่คำตอบของเทรนด์การค้ายุคใหม่ ที่ถึงเวลาต้อง“ปฏิวัติ” นำร่องที่การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ 3 งานสำคัญของไทย ที่กำลังจะสร้างสีสันให้ผู้ซื้อ (Buyer) ทุกมุมโลกตื่นตะลึง

กับการรวบ3งานแฟร์ “ไลฟ์สไตล์ระดับนานาชาติ” ไว้ในงานเดียว ภายใต้“ธีมเดียวกัน”เพื่อฉายตัวตน ความเป็นสไตล์การใช้ชีวิตในแบบคนเอเชีย ได้แก่ งานแสดงสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง (Bangkok International Fashion Fair and Bangkok International Leather Fair: BIFF&BIL)

งานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน (Bangkok International Gift Fair and Bangkok International House ware Fair: BIG + BIH) และงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (Thailand International Furniture Fair: TIFF)

สมเด็จ สุสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เล่าถึงเทรนด์การจัดดิสเพลย์สินค้าบนช็อปสินค้าแฟชั่นเมืองใหญ่ที่เป็นตัวแม่วงการแฟชั่นระดับโลกทั้ง นิวยอร์ค ปารีส หรือโตเกียว ปัจจุบันต่างตกแต่งร้านภายใต้แนวคิดเดียวกันในสินค้าหลากหลายชนิด ในลักษณะคอนเซ็ปต์ สโตร์ (Concept Store) หรือร้านที่หลอมรวมหลากหลายแบรนด์ (Multi brand Store) และ Selected Shop ไว้ในพื้นที่เดียวกัน

เป็นเทรนด์โชว์รูมแฟชั่น เน้นสร้างประสบการณ์ โชว์ความเป็นไลฟ์สไตล์ เลือกสรรสินค้าต่างแบรนด์ ต่างชนิด แต่มี “ความเฉพาะ”ภายใต้ไอเดียเชื่อมต่อไปในไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกัน เพื่อเป็น“กรณีศึกษา”ให้ขาช้อปเห็นรูปแบบการใช้ชีวิต ผ่านหลากหลายแบรนด์ บนแนวคิดเดียวกัน เป็นตัวเชื่อมทุกจุดของการใช้ชีวิตประจำวัน

มองเทรนด์โลกแล้วย้อนมองเทรนด์การจัดงานงานแสดงสินค้านานาชาติของไทย “หมดสมัย” ที่จะเดินงานแฟร์ให้จนเมื่อยขาเพื่อดูว่าแต่ละบูทนำสินค้าใดมาจำหน่ายแบบขาดคอนเซ็ปต์การนำเสนอ  ยิ่งในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ด ผู้สั่งซื้อต่างพากันรัดเข็มขัด ยิ่งทำให้การนำเสนอสินค้าผ่านงานแฟร์ ต้องเรียกแขกจากทุกมุมโลกมากกว่าเดิม ต้องสร้างความตื่นเต้น แปลกใหม่ผ่านงานแฟร์ เพื่อโชว์ความเปรี้ยว เผ็ด แซ่บ ตามตำรับ ต้มยำกุ้งไทย

จึงเป็นที่มาของการจัดงานแสดงสินค้าในปีนี้ โดยเป็นปีแรกที่จะรวม 3 งานแฟร์เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อดึงดูดผู้ซื้อจากทั่วโลก มาชมสินค้าเป็น แพ็คเกจ ภายใต้งาน “STYLE” เพื่อฉายความเป็นตัวตนความสร้างสรรค์ของไทยผ่านแนวคิด “Life+Style” ระหว่างวันที่17-21ต.ค.นี้ ผ่านการสร้างเครือข่ายจัดงานจาก 24 สมาคม จาก 1,000 บริษัท 2,000บูธ ที่ไบเทค บางนา

การจัดงานแฟร์กระหึ่มเปิดเวทีครั้งเดียว ยิ่งตรงผู้ซื้อประจำจาก 3 งานมาเจอกัน เป็นจังหวะที่ดีที่ลูกค้าเครื่องหนังจะได้เห็นผลงานแฟชั่นด้านอื่นของไทย ได้เห็นว่ายูนิค หรือ อัตลักษณ์ ของสินค้าไทย ลูกค้าทุกกลุ่มจึงมีโอกาสขยายฐานลูกค้า รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยังมองว่าจะส่งผลดีต่อการขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น

เป็นการรวมสินค้าหลากหลายประเภทเพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางของผู้สั่งซื้อมาครั้งเดียวจบตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ตั้งแต่การผลิต ตลาด การค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ ครบวงจร

ผู้ซื้อจากหลากหลายกลุ่มทั้งผู้ค้าปลีก (Retailer) ) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property Project) ตัวแทนจากบริษัทจัดซื้อของต่างประเทศ (Buying Agent) นักออกแบบ มัณฑนากร สถาบันการออกแบบต่างๆ ห้างสรรพสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ที่อยู่ในแวดวงแฟชั่นและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ที่จะได้รับสินค้าที่ตอบสนองทุกช่องทาง โชว์ความเป็นไลฟ์สไตล์ เสน่ห์ และมรดกทางวัฒนธรรมไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ

ในอดีตหากพูดถึงไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิต วงการแฟชั่นไทยจะต้องส่องไปยัง ปารีส นิวยอร์ค มิลาน และโตเกียว ว่าพวกเขากำลังทำอะไรแล้ววิ่งตาม

ทว่าวันนี้ เมื่อรวมงานที่เกี่ยวกับสินค้าแฟชั่น และการใช้ชีวิต ทั้ง 3 งานมาไว้ด้วยกันได้ เราก็กล้าพอที่จะประกาศความเป็น“ตัวตน” เทรนด์สำหรับประเทศไทยรวมถึงเอเชียได้เช่นเดียวกัน

ผศ.ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ รองหัวหน้าภาควิชาฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์และสื่อสารภาพลักษณ์ ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นและดีไซน์ ซึ่งเป็นผู้นำเสนอไอเดียการจัดงานแฟร์รูปแบบใหม่นี้ โดยระบุว่ามาจากการ “ระดมสมอง”ของเหล่ากูรูวงการแฟชั่นไทย ช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลการตลาด ความต้องการสินค้า ให้ลูกค้าหลังส่องเทรนด์โลก ประกาศความเป็นแฟชั่น Spring Summer 2018 ด้วย 4 เทรนด์ร้อน สะท้อนรูปแบบการใช้ชีวิตวิถีไทยที่เปิดกว้าง รับทุกวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางที่เป็นผู้นำหมุนการใช้ชีวิตของเอเชียได้รสแซ่บ จี๊ดจ๊าด สร้างสีสันให้โลกต้องเหลียวมามองไม่แพ้ศูนย์กลางแฟชั่นทั่วโลก

“เราจะฉายความเป็นเอเชีย (Asia Expression) ที่กำลังบอกโลกว่า เราไม่ได้ตามโลกแต่เรากำลังกำหนดบทบาทที่เราจะเดินตาม 4 เทรนด์ที่มาจากทัศนคติ พื้นฐานวิธีคิด การใช้ชีวิตการกินอยู่ และสถานะทางสังคม ของเรา”

1.เทรนด์ แนวคิดชาติพันธุ์ตะวันออก (Ordinary East) มีการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย (Minimalist) ที่เต็มไปด้วยคุณภาพ การอยู่อย่างมีเหตุผลบนตรรกะตะวันออก มีพื้นฐานมาจากศาสนาพุทธ เซน

“เทรนด์ที่พูดถึงความเป็นปัจเจก การค้นหาความหมายว่าชีวิตคืออะไร คนพวกนี้อยู่แบบมินิมอล “น้อยทว่าพอเพียง” อยู่กับความจริงลดทอนหมดทุกอย่าง เป็นคนรุ่นใหม่แต่ใช้ชีวิตเหมือนคนสูงวัยที่เข้าใจชีวิต หันมากินคลีน แต่งตัวอิสระ ไม่ยึดติดกับแบรนด์ ไม่ติดโลกโซเชียล วัตถุนิยม ลดทอนรายละเอียด”

ใช้สีโทนร้อน เช่น กลุ่มสีเหลือง ส้ม แดง กลุ่มสีเอิร์ธโทน และใช้สีทอง เงิน เทาอ่อน เป็นสีพื้นฐาน

2.เทรนด์หวนรำลึกถึงอดีต ความเป็นวัฒนธรรมของชนชาติอาเซียน (Asian Resonation) เกิดความคิดย้อนกลับมาดูตัวตนของคนอาเซียน มีสิ่งใดที่เป็นอัตลักษณ์ รากเหง้าดั้งเดิมที่เคยเปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้รับอิทธิพลจากภายนอก ซึ่งความโดดเด่นของอาเซียนคือการผสมผสานความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หลายภาษา วัฒนธรรมจนไม่สามารถแยกเชื้อชาติได้

“ภูมิหลังรากเหง้าของตัวเรา เช่น งานฝีมือ วัฒนธรรม ที่แตกต่างจากยุโรป เราจึงไม่จำเป็นต้องเดินตามยุโรป เรามีจุดขายที่ความเป็นตัวเรา หากชอบสีสันก็ไม่ต้องตามใคร ไม่ต้องแคร์กับทฤษฎีสี เราอยากใส่กางเกงสีบานเย็น ผ้าขาวม้าก็ได้ ตรงตามอากาศ เป็นการดึงงานหัตถกรรมของไทยให้มีความเป็นสากล บอกให้โลกรู้ว่าศิลปะ คือความเป็นตัวตนที่ไม่ต้องตามใคร”

สีที่ใช้เป็นกลุ่มสีแดง เหลือง ส้ม เน้นด้วยสีกลุ่มอินดิโก้ น้ำเงิน ฟ้า คราม และใช้สีขาว ดำ เทา เป็นสีพื้นฐาน โดยแบ่งกลุ่มสีชัดเจนระหว่างชายและหญิง

3.เทรนด์ผสมผสานระหว่างเจนเนอเรชั่นเด็กและผู้ใหญ่ (Generation Art)กระตุ้นความน่าสนใจผ่านการแต่งตัวที่ไม่ยึดติดกับวัย เลือกใช้วัตถุดิบที่มีความแปลกใหม่ งานศิลปะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การเพิ่มนวัตกรรมให้งานศิลปะมีความทันสมัยและดูเท่ ความไม่ยึดติดกับแบรนด์ยึดติดกับกระแส หรือกรอบสถานะทางสังคม

“แต่งตัวแบบสตรีทแวร์เด็กรุ่นใหม่ หรือเป็นคนรุ่นใหม่ไม่เกี่ยวกับอายุ ไม่มีคำว่าเจเนเรชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง จะอายุหกสิบแต่งตัวเปรี้ยวยังได้ เช่น ป้าคนหนึ่งถือกระเป๋าหลุยส์ ใส่รองเท้าอดิดาส แต่งตัวเปรี้ยวได้ เพราะแต่ละเจนฯ มีความไดนามิคของสังคมจึงไม่ยึดติดว่าคุณเอายุเท่านี้แต่งได้เท่านี้พอ หรือคุณเป็นผู้จัดการใส่สูท อยู่ที่ความคิดว่านี่คือศิลปะเฉพาะตัวของใคร ไม่แคร์เทรนด์ เพราะคนปัจจุบันทำงานที่บ้าน ร้านกาแฟ ตำแหน่งสูงใส่รองเท้าแตะ ขาสั้นก็ไม่มีใครรู้” เขาเล่ากรอบความคิดเดิมไร้ความหมาย

มีการใช้สีในกลุ่มสีชมพู เหลือง ส้ม แดง ม่วง ฟ้า และมีสีดำ เทา ทอง เป็นสีพื้นฐาน

4.เทรนด์ตนเองเป็นศูนย์กลาง การสร้างโลกในอุดมคติ (Man-Made Utopia) เน้นการให้ การปรุงแต่ง การศัลยกรรม การเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งรอบตัวให้เข้ากับตัวเอง การสร้างสรรค์ธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวด้วยฝีมือมนุษย์ การลวงตา ความไม่จริง การปรับเปลี่ยนตลอดเวลา การใช้สิ่งตรงข้ามในการนำเสนอ

“เป็นโลกแฟนตาซีของคนเอเชียที่จะใช้ชีวิตแบบอิสระ สีสันจัดจ้าง เช่น โบฮีเมียน”

สีที่ใช้เป็นกลุ่มสีสังเคราะห์ ส้มอิฐ ม่วง น้ำตาล ชมพู มีกลุ่มสีเอิร์ธโทน น้ำตาล ดำ เทา เป็นสีพื้นฐาน เน้นด้วยสีคราม และฟ้าอ่อน

โลกใบใหม่หักล้างจากกรอบเดิม ตั้งแต่ค่านิยมทางสังคม ตำแหน่ง อายุ เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หมดยุคที่จะลุกขึ้นมาแต่งตัวแล้วแอบคิด และมองว่า ใครจะคิดอย่างไรกับเรา

“คนที่กังวลกับสังคมกับกำลังอยู่ในสังคมเก่าๆ ยุคนี้เราออกไปสยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ ทุกคนล้วนประชันความเปรี้ยว คุณแม่เลี้ยงลูกพาลูกมาห้างก็ยังแต่งตัวแซ่บ สังคมเปลี่ยนไป มีอีเวนท์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งตลาดนัด บล็อกอาร์ท ที่กระตุ้นให้คนโชว์ความเป็นตัวตน ไลฟ์สไตล์ของตัวเองออกมา"

ซึ่งการยึดติดกับกรอบเป็นข้อจำกัดที่ไม่เกิดวิวัฒนาการแฟชั่น

“เมื่อไหร่อยู่ติดกับกรอบไม่มีทางหนีจากจุดเดิม ต้องแหกกรอบ” อาจารย์อโนทัย บอกถึงจุดตั้งต้นแนวคิดที่กระตุ้นให้คนลุกขึ้นมาโชว์ความเป็นสไตล์ไทย และเอเชีย เพราะเป็นจุดแรกที่จะทำให้ไทยก้าวเดินบนพรมแดงของศูนย์กลางแฟชั่นเอเชีย

แม้เราไม่ใหญ่พอจะบอกว่าเราเป็นงานแฟร์ขนาดใหญ่อย่างจีน และฮ่องกง แต่สิ่งที่เชิดหน้าชูตา โชว์ได้คือ เราเป็นศูนย์ของความมีรูปแบบไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ด้วยความที่ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทาง การเปิดรับทางวัฒนธรรม จึงเป็นศูนย์รวมของการหลั่งไหลของต้นแบบการหลอมรวมทางวัฒนธรรม รากเหง้าของความเป็นเอเชีย

งานแฟร์สไตล์ นี้จึงเป็นการสรุปได้ว่าเป็น “The most stylist in Asia” คือการฉายความเป็นเอเชียให้ชัดและโดดเด่นที่สุด

ไปกินต้มยำที่ประเทศรอบข้าง ก็ไม่แซ่บเหมือนกินที่ไทย แม้เขามีตะไคร้ ข่า ใบมะกรูดเหมือนกัน แต่ของเรากล้าเปรี้ยว เผ็ด หวาน นี่คือความผสมผสานของวัฒนธรรมเด่นดีเอเชียมาอยู่ในไทย

ทว่า ก่อนจะประกาศให้โลกรู้ว่าเราเป็นผู้นำหมุนโลกแฟชั่นเอเชีย ต้องเริ่มต้นจากภายในประเทศของเรามีความเป็นเอกภาพ (Unity)เข้าใจตรงกัน ด้วยการเริ่มต้นใช้ของ ทั้งแฟชั่น แบรนด์ภายในประเทศ

พลอย จริยะเวช นักเขียน คอลัมนิสต์ และคอนเซ็ปต์ดีไซน์เนอร์ชื่อดัง บอกว่า การสร้างสไตล์ เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมเพราะมาจากความคิด แนวคิดที่ถูกแปลงมาเป็นรูปธรรมผ่านการใช้ชีวิต พูดคุย ตัวตน การยิ้ม ที่มีความเป็นปัจเจกบุคคล สะท้อนผ่านแบรนด์

ดังนั้นหากไทยจะยกตัวเองให้เป็นศูนย์กลางแฟชั่น สิ่งสำคัญคือต้องหา “แก่น และ รากเหง้า” ให้ชัด เมื่อไปหลวมรวมพัฒนานวัตกรรม ก้าวสู่โลก 4.0 ก็ยังคงความเป็นตัวตนที่แตกต่าง

“ก่อนออกแบบเป็นแนวคิด (Concept)จะต้องให้ความสำคัญกับแก่นแท้ของแบรนด์ 80%และอีก 20%จึงต้องติดตามเทรนด์โลกมาผสมผสาน ปรับใช้ให้เหมาะกับตัวตนของเรา”

ในงานนอกจากมีเทรนด์ฟอรั่ม ที่พูดกันถึงเทรนด์ ยังมีนิทรรศการรวมสินค้า พร้อมแนะนำกลยุทธ์การทำตลาด และกลุ่มเป้าหมาย ให้สอดคล้องกับเทรนด์ BIG TOY DESIGN สินค้าของเล่น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญทางการตลาดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม 

ECO Commercial Designสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ที่ได้รับการพัฒนาจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น โดยเน้นแนวคิดการออกแบบและพัฒนาที่เน้นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

ISAAN Object สินค้าจากผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาจากนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญใน3ประเภท คือ สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าแฟชั่น/สิ่งทอและสินค้าเครื่องประดับ และDEWAผลงานที่ได้รับการพัฒนาจากพืชธรรมชาติ และวัสดุเหลือใช้ต่างๆ

----------

ปลุกแบรนด์ท้องถิ่น

สู่ “New Fashion Destination”

ณัฎฐ์ มั่งคั่งผู้อำนวยการด้านภาพลักษณ์องค์กรบริษัท คลอเส็ท ดีไซน์ จำกัด(Kloset) เล่าถึงการเติมโจทย์ให้ผู้ประกอบการ ท้องถิ่นปั้นแบรนด์สู่โลกว่า ต้องมีแนวคิดต่อยอดจากความโดดเด่นเป็นผู้เล่นในท้องถิ่น มองไกลถึงต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายมีดีอยู่แล้ว แต่จะต้องเติมเรื่องทัศนคติและแรงบันดาลใจ หยิบความโดดเด่นของสิ่งใกล้ตัวในชุมชนมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับแบรนด์

สิ่งที่ต้องปรับอีกประการ คือ การเพิ่มคอลเล็คชั่นใหม่ๆมาสอดแทรกในซีซันต่างๆ ตั้งแต่ ร้อน ใบไม้ผลิ ใบไม้ร่วง และหนาว

“ยุคนี้แฟชั่นมาเร็วไปเร็ว (Fast fashion) เช่น ยูนิโคล่ ซาร่า เอชแอนด์เอ็ม ที่แบรนด์กลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงดิสเพลย์รวดเร็ว แต่ไทยมีแค่สองฤดูกาล อาจจะทำให้เบื่อกับคอลเล็คชั่นเดิม แม้จะขายดี จึงควรดีไซน์ให้เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ไม่ใช่ถนนคนเดินเสื้อตัวเดียว ขายทั้งปี"

เช่นเดียวกันกับ การทำแบรนด์แจ้งเกิดในตลาดต่างประเทศ จะต้องรู้ตัวตน วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแบรนด์ หากลุ่มเป้าหมาย เช่น เข้าไปเป็นที่ปรึกษาแบรนด์ใบบุญ ที่เชียงใหม่ เริ่มต้นจากอดีต2-3ปีที่แล้ว ทอผ้าจนเข้าไปพัฒนากระเป๋า มีดีไซน์ผสมกับเครื่องหนัง ปัจจุบันเป็นกระเป๋าที่มีอัตลักษณ์ ที่เติมคำว่าเชียงใหม่ ส่งออกไปในเกาหลี ญี่ปุ่น และฮ่องกง

“พอรู้แล้วว่าเราทำกระเป๋าเพื่อใคร เริ่มสร้างสไตล์ให้เค้า ควรออกแบบสไตล์นี้ ขายคนแบบนี้ราคาเท่านี้ เข้าไปสอนเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจ ที่มีความจำเป็นเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเรื่องราว มีสิ่งใหม่มาขาย เช่น ดอกไม้ในสวน หรือ สีสันกระเบื้องวัดในเชียงใหม่"

ศักยภาพการปั้นดีไซน์เนอร์ไทยไปตลาดโลก มีโอกาสเป็นไปได้เพราะจุดแข็งของไทยที่มีนักท่องเที่ยวเติบโตทุกปี ทั้งยุโรป และเอเชีย ยกให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทาง ซึ่งจะส่งผลไปถึงการเป็นซึมซับในคุณค่าของอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมไทยที่จะเป็นผู้นำในแฟชั่น (New Fashion Destination) ที่โลกต่างสนใจ เหมือนกับที่เห็นฝรั่งที่มาเที่ยวเมืองไทยชอบใส่กางเกงพลิ้วๆ ลายช้าง นั่นเพราะเขาโหยหาความเป็นไทย และความเป็นเอเชีย ที่แฝงไว้ที่ความสบาย ผ่อนคลาย