‘สมาร์ทธิงค์’ เกษตรปลายนิ้วสัมผัส

‘สมาร์ทธิงค์’ เกษตรปลายนิ้วสัมผัส

ดอกผลจากการบ่มเพาะของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดสตาร์ทอัพหน้าใหม่อย่าง Smart think ประยุกต์ IoT เติมศักยภาพให้เกษตรกร นำร่องใช้ในฟาร์มเมล่อน และทดลองกับพืชหลากชนิด ด้าน วท. เร่งเครื่องเปิดอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเต็มรูปแบบแห่งแรก

ความสนใจที่จะเป็นเกษตรกร บวกกับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ “พีรดนย์ ไชยมี” จึงมองหาโซลูชั่นใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะมาควบคุมดูแลแปลงเพาะปลูก เกิดเป็น Smart Think ระบบควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะผ่านสมาร์ทโฟน

ติดอาวุธเกษตรกรไทย

Smart think เป็นโครงการที่บริษัท สมาร์ท ติ๊ง คอนโทรล จำกัด พัฒนาร่วมกับสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ในการนำและเทคโนโลยี มาพัฒนาต้นแบบควบคุมโรงเรือนและสวนการเกษตรอัจฉริยะ โดยสามารถควบคุมและตัดสินใจสั่งงานอัตโนมัติ หรือผู้ใช้งานสามารถสั่งงานจากทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ตามรูปแบบการทำงานของ IoT (อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์)

ภายในโรงเรือนและสวนยังติดตั้งเซนเซอร์ตรวจสอบค่าต่างๆ เช่น ความเป็นกรด-ด่าง วัดค่าแร่ธาตุในดิน อุณหภูมิ ความชื้นในโรงเรือน เพื่อนำข้อมูลกลับมาคำนวณและสั่งการอุปกรณ์ตามที่ออกแบบไว้ รวมถึงมีระบบวางแผนการปลูก วางแผนการตลาดผ่านสมาร์ทโฟน

ทั้งนี้ จากการทดลองใช้ Smart think ในแปลงปลูกเมล่อนที่ “นับเงินฟาร์ม” ฟาร์มผักไฮโดรโปรนิกส์ สมาร์ทฟาร์มเต็มรูปแบบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พบว่าผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ มีขนาดผลโต เนื้อกรอบและรสชาติหวานฉ่ำ ฉะนั้น แอพนี้จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตทั้งค่าปุ๋ยและค่าน้ำ รวมถึงเพิ่มศักยภาพการผลิตและการตลาดได้อย่างสอดคล้องไปพร้อมๆ กัน ทำให้เกษตรกรและพ่อค้าคนกลางสามารถเข้าถึงข้อมูลระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว

ล่าสุด Smart Think ได้รับรางวัลสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ ลีก ในงานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2017 โดยมีโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานสนับสนุน อีกทั้งก่อนหน้านั้นมีโอกาสร่วมแสดงในงาน SME revolution 2017 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เยี่ยมชมระบบโรงเรือนอัจฉริยะดังกล่าวพร้อมทั้งทดลองใช้งานโดยสั่งเปิดระบบน้ำผ่านทางสมาร์ทโฟนด้วยตัวท่านเอง

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ปัจจุบันการวิจัยและพัฒนา เป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว จึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคจัดตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค” เพื่อเป็นฐานการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งด้านกำลังคน การวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ไปสู่ระดับท้องถิ่น ปัจจุบันมีผลดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จมากมาย

ปักธงอุทยานวิทย์ฯภูมิภาค

นายชาญวิทย์ ตรีเดช นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สอว. กล่าวว่า เม.ย.ปีหน้าจะเปิดตัวอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคของภาคเหนืออย่างเป็นทางการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พื้นที่ 2 หมื่นตารางเมตรพร้อมสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นทั้งพื้นที่สำนักงานและห้องปฏิบัติการต่างๆ โดยจะร่วมมือทำวิจัยและพัฒนากับภาคเอกชน เปิดพื้นที่ให้กับเอกชนมาใช้ และมีความร่วมมือกับต่างประเทศ อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์ของไต้หวันและญี่ปุ่น

อุทยานฯ ภาคเหนือจะมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมข้าวไทย มุ่งสร้างมูลค่าให้กับข้าวทั้งระบบ รวมถึงผักผลไม้เมืองหนาว คาดว่าปีแรกจะรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพได้ 200 รายที่จะมาเช่าพื้นที่เพื่อทำธุรกิจและดำเนินการวิจัยพัฒนา

จากนั้น สอว. มีแผนจะขยายไปสู่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น คาดว่าเปิดบริการ ส.ค.2561 และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ในพื้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลางปี 2562 เพื่อสร้างนิคมวิจัย หนุนเอกชนมาใช้บริการ ทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดนวัตกรรมให้มากที่สุด