ข้อบังคับประธานศาลฎีกา กรณีรับหรือไม่รับฎีกาคดีทุจริต

ข้อบังคับประธานศาลฎีกา กรณีรับหรือไม่รับฎีกาคดีทุจริต

ประกาศแล้ว! ข้อบังคับ "ประธานศาลฎีกา" ว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ฉบับที่2 พ.ศ.2560 กรณีการรับและไม่รับฎีกา

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ วรรคสอง มาตรา ๗ วรรคสาม มาตรา ๔๖ วรรคสอง (๗) และมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐”

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๖ วรรคหนึ่ง แห่งข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “เมื่อโจทก์ยื่นฟ้อง หากศาลเห็นว่ามีความจําเป็นเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีดําเนินการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นแห่งคดีการตรวจสอบกรณีการริบทรัพย์สิน หรือมีหนังสือเรียกให้หน่วยงานหรือบุคคลใดมาให้ข้อมูลหรือจัดส่งพยานหลักฐาน รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่การไต่สวนมูลฟ้อง พิจารณาและพิพากษาคดี”

ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒๙ แห่งข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ในกรณีที่อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของพนักงานอัยการว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย ตามมาตรา ๔๖ วรรคสี่ คําร้องตามมาตรา ๔๔ เพียงแสดงว่าอัยการสูงสุดได้ลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของพนักงานอัยการว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย”

ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓๗ แห่งข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ในกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าคําร้องมิได้ปฏิบัติตามข้อ ๒๘ หรือปัญหาตามคําร้องทั้งหมดมิใช่ปัญหาสําคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ให้มีคําสั่งยกคําร้องและไม่รับฎีกาโดยแสดงเหตุผลโดยย่อแล้วส่งสํานวนความคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบโดยเร็ว”

ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐
วีระพล ตั้งสุวรรณ
ประธานศาลฎีกา