เผยหนี้สาธารณะสิ้น ส.ค. คิดเป็น 41.92% ของจีดีพี

เผยหนี้สาธารณะสิ้น ส.ค. คิดเป็น 41.92% ของจีดีพี

"สบน." เผย ณ สิ้นส.ค. หนี้สาธารณะอยู่ที่ 6.27 ล้านลบ. คิดเป็น 41.92% ของจีดีพี เพิ่มขึ้น 49,883 ลบ. ประเมินปีงบ 61 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 42.7% ก่อนเพิ่มเป็น 44.8% ในปี 62

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิงหาคม 2560 อยู่ที่ 6.27 ล้านล้านบาท หรือ 41.92% ของจีดีพี โดยเป็นหนี้รัฐบาล 4.86 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 966,596 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน 432,369 ล้านบาท หนี้หน่วยงานรัฐ 14,643 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 49,833 ล้านบาท

สำหรับการกู้เงินตามแผนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 และพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2560 รวมถึงเพื่อการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 36,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มขึ้น 25,000 ล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้น 11,000 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2561 โดยกำหนดวงเงินรวมที่ 1.50 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ 582,026 ล้านบาท และแผนการบริหารหนี้เดิมวงเงิน 920,950 ล้านบาท รวมทั้งรับทราบแผนการบริหารหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติจากครม.อีก 161,433 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้คาดการณ์ระดับหนี้สาธารณะ ต่อจีดีพี และภาระหนี้ต่องบประมาณในระยะ 5 ปี ประกอบด้วยปีงบประมาณ 2561-2565 โดยยืนยันว่า ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไม่เกิน 60% ของจีดีพี และสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15% โดยประมาณการว่าปีงบประมาณ 2561 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 42.7% และ 44.8% ในปีงบประมาณ 2562 ส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณปี 2561 คาดอยู่ที่ 9% และ 9.3% ในปีงบประมาณ 2562

สำหรับเป้าหมายในการบริหารหนี้ระยะกลางปีงบประมาณ 2561-2565 นั้น จะให้ความสำคัญและควบคุมตัวชี้วัดความเสี่ยง 3 ด้าน ประกอบด้วย ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อสภาวะตลาดเอื้ออำนวย และการกู้ใหม่ควรปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทันที ขณะที่ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยนั้น จะคงสัดส่วนหนี้อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่ต่ำกว่า 85% ของหนี้ทั้งหมด และคงสัดส่วนหนี้ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยใน 1 ปีให้อยู่ภายใต้กรอบ 18-24% ของหนี้ทั้งหมด

ขณะที่ความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้นั้น จะขยายอายุเฉลี่ยของหนี้รัฐบาลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 14 ปี และคงสัดส่วนหนี้ที่ครบกำหนดชำระใน 1 ปี ให้อยู่ในกรอบ 10-14% ของหนี้ทั้งหมด และคงสัดส่วนหนี้ที่ครบกำหนดชำระ 3 ปีให้อยู่ในกรอบ 25-30% ขณะที่ Infation-Linked Bond จะคงสัดส่วนไม่เกิน 5% ของหนี้ทั้งหมด