เทรนด์อุปโภคบริโภคปฏิวัติ‘ช้อปออนไลน์’

เทรนด์อุปโภคบริโภคปฏิวัติ‘ช้อปออนไลน์’

ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสัดส่วน 67% ของจำนวนประชากร หรือกว่า 46 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียผ่านมือถือกว่า 40 ล้านราย ส่งผลให้“สมาร์ทโฟน” เป็นเครื่องมือทรงอิทธิพลเข้าถึงผู้บริโภคและผลักดันการเติบโตตลาดอี-คอมเมิร์ซ

โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) รายงานมูลค่าอี-คอมเมิร์ซ ประเทศไทย ขยายตัวต่อเนื่อง คาดว่าปี 2560 จะมีมูลค่า 2.81 ล้านล้านบาท  เติบโต 9.86% แบ่งเป็นกลุ่ม B2B  มูลค่า 1.67 ล้านล้านบาท โต 8.63%, กลุ่ม B2G  หรือผู้ประกอบการกับภาครัฐ มูลค่า 3.24 แสนล้านบาท  โต 11.55%  และกลุ่มB2C มูลค่า 8.12 แสนล้านบาท โต 15.54% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขยายตัวสูงสุด 

อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทกันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้วิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเชิงลึกในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอัตราการบริโภคสูง หรือ FMCG  กล่าวว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ อี-คอมเมิร์ซไทยขยายตัวสูงไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มเอเชีย 

จากการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคพบ 3 แนวโน้ม ปฏิวัติช่องทางอี-คอมเมิร์ซและพฤติกรรมการช็อปผ่านช่องทางออนไลน์ของตลาดเอเชียรวมถึงประเทศไทย 

ประกอบด้วย  1.แนวโน้ม"สมาร์ทโฟน" เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงอิทธิพล ปัจจุบันกลุ่มที่เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีความสำคัญมากต่อแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคเอเชีย เพราะเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ติดตัวผู้บริโภคตลอดเวลาและมีแนวโน้มใช้เวลากับมือถือเพิ่มขึ้น

“ผู้บริโภคที่มีสมาร์ทโฟนและเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จะจับจ่ายเงินมากกว่ากลุ่มผู้บริโภคออฟไลน์” 

ในตลาดอาเซียน พบว่าครัวเรือนที่เข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตเป็นสัดส่วนถึง 60% ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด อำนาจในการจับจ่ายของผู้บริโภคกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนถึง 30%

พบว่าผู้บริโภคเอเชียกว่า 38% ใช้สมาร์ทโฟนเปรียบเทียบราคาสินค้าในขณะที่ทำการเลือกซื้อสินค้าในร้านค้า อีกทั้งใช้สมาร์ทโฟนมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ส่งผลให้สมาร์ทโฟน ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำการตลาดและสื่อสารกับผู้บริโภคมากขึ้น โดยแบรนด์ต่างๆสามารถทำโปรโมชั่นตามพื้นที่ต่างๆเพื่อดึงดูดลูกค้าที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ต้องการได้

แนวโน้มที่ 2 การปฏิวัติตลาดด้วยช่องทางอี-คอมเมิร์ช คาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ช จะมีมูลค่าอยู่ที่ 9% ของตลาดอุปโภคบริโภคทั้งหมดทั่วโลกในปี 2025 ซึ่งเพิ่มถึง“เท่าตัว”ของมูลค่าในปัจจุบันนี้ โดยตลาดอี-คอมเมิร์ซในเอเชียมีสัดส่วน 38% สูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ 

การเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซ ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารของ“แบรนด์” จากพฤติกรรมและวิธีการเลือกซื้อของกลุ่มผู้บริโภค  เช่น แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ชของอาลีบาบา ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้โดยตรง  แต่ข้อดี คือ การเข้ามาเป็นผู้ขายในตลาดอี-คอมเมิร์ซ ใช้ต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการเลือกแบรนด์สินค้าได้มากขึ้น

ในช่วงเปลี่ยนผ่านของอี-คอมเมิร์ชในเอเชีย แบรนด์สินค้าและผู้ค้าปลีกต้องคาดการณ์และเดาใจผู้บริโภค เพื่อให้ข้อเสนอที่น่าสนใจกระตุ้นการจับจ่ายและส่งผลต่อการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ ทำให้แบรนด์ต่างๆ เข้าสู่ตลาดอุปโภคบริโภคได้ง่ายขึ้นและเพิ่มการแข่งขันในตลาดนี้

สำหรับแนวโน้มที่ 3 การตอบรับต่อความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของกลุ่มผู้บริโภคต่อแบรนด์อุปโภคบริโภค จากการศึกษาชุด “Asia Brand Power” ของกันตาร์ฯ พบว่าลักษณะของแบรนด์ท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นแบรนด์ที่เข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ซึ่งมาในรูปแบบเรื่องราวที่มาจากชีวิตจริงของผู้บริโภค หรืออาจเป็นรูปแบบในเชิงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคมและประเทศชาติในภาพรวม 

ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพที่ดี หากแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคแท้จริงนั้น จะเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและสามารถเติบโตได้ในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค