เปิดเบื้องลึก! 1เสียงข้างน้อย ลงมติ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่ผิด

เปิดเบื้องลึก! 1เสียงข้างน้อย ลงมติ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่ผิด

เปิดเบื้องลึก! ขั้นตอน 9 องค์คณะฯ ลงมติ 2 รอบ กำหนดโทษ "อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์" ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่คดีจำนำข้าว 8 เสียงชี้ผิด "พิศล" ปธ.แผนกคดีเยาวชน เสียงข้างน้อย ขณะที่ 9 เสียงเอกฉันท์คุก 5 ปีไม่รอลงอาญา

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.60 เวลา 12.00 น. เเหล่งข่าวระดับสูงศาลยุติธรรม อธิบายถึงขั้นตอนการลงมติวินิจฉัยลงโทษจำคุก 5 ปี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ขององค์คณะศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ว่า ในการทำคำพิพากษากลางในช่วงเช้าวันที่ 27 ก.ย.นั้น เมื่อองค์คณะฯ แต่ละคนเเถลงคำพิพากษาส่วนตนในที่ประชุมเเล้ว จากนั้นองค์คณะฯ ลงมติในคดี 2 รอบ

รอบเเรก คือ องค์คณะฯ จะลงมติว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งองค์คณะฯ มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งองค์คณะฯ เสียงข้างน้อย 1 คน คือนายพิศล พิรุณ ลงมติเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด โดยหลังจากลงมติครั้งเเรกที่เสียงข้างมากเห็นว่ามีความผิดเเล้วก็จะต้องยึดตามมตินั้นว่าการกระทำของยิ่งลักษณ์เป็นความผิด

ส่วนการลงมติครั้งที่ 2 คือ พิจารณาว่าเมื่อจำเลยมีความผิดเเล้ว จะลงโทษจำเลยอย่างไร เเละจะรอการลงโทษไว้หรือไม่ ซึ่งการลงมติในครั้งที่ 2 องค์คณะฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียงให้จำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย 5 ปีโดยไม่รอการลงโทษ

"มติมี 2 รอบ เมื่อรอบเเรกเสียงข้างน้อยจะเห็นว่าไม่ผิด เเต่เมื่อเเพ้มติเเล้วก็ต้องเห็นเอาตามเสียงส่วนใหญ่ หลังจากนั้นก็จะต้องมาพิจารณาในเรื่องของการลงโทษเเละก็มาลงมติกันอีกครั้งที่ 2 เเละผลก็ออกมาลงโทษ 5 ปีไม่รอลงอาญา" เเหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีสำหรับคำพิพากษากลาง และคำวินิจฉัยคดีส่วนตนของผู้พิพากษาทั้ง 9 คนจะทยอยลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ของแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาต่อไป ในช่วงเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังจากมีคำพิพากษา

ทั้งนี้ในส่วนของการประชุมทำคำพิพากษากลางนั้น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 20 บัญญัติให้การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือการพิพากษาคดี ให้ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทำความเห็นส่วนตนในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือพร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ และให้ถือมติตามเสียงข้างมาก โดยองค์คณะผู้พิพากษาอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาเป็นผู้จัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษาตามมตินั้นก็ได้

และคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล ให้เปิดเผยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนความเห็นในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนให้เปิดเผยตามวิธีการที่ประธานศาลฎีกากำหนด ซึ่งการให้ความเห็นในการวินิจฉัยคดีอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ชื่อคู่ความทุกฝ่าย เรื่องที่ถูกกล่าวหา ข้อกล่าวหาและคำให้การ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง คำวินิจฉัยคดี รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี องค์คณะฯ ทั้งเก้าที่พิจารณาพิพากษาคดีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประกอบด้วย
1.นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 และว่าที่ประธานศาลฎีกาที่จะขึ้นดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค.นี้ เป็นเจ้าของสำนวนคดี
2.นายวิรุฬ แสงเทียน รองประธานศาลฎีกา
3.นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา และว่าที่ประธานศาลอุทธรณ์ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค.นี้
4.นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกาและว่าที่รองประธานศาลผฎีกาที่จะขึ้นดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค.นี้
5.นายธนสิทธ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาและว่าที่รองประธานศาลฎีกา ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค.นี้
6.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกาและว่าที่รองประธานศาลฎีกา ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค.นี้
7.นายโสภณ โรจน์อนนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ และว่าที่รองประธานศาลฎีกา ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค.นี้
8.นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา และว่าที่ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาที่จะขึ้นดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค.นี้
9.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา