ลาก 'มีชัย' ร่วมวง! เทียบ 'พานทองแท้' ปมเอี่ยวฟอกเงินฉาว

ลาก 'มีชัย' ร่วมวง! เทียบ 'พานทองแท้' ปมเอี่ยวฟอกเงินฉาว

ทนายลาก "มีชัย" ร่วมวง! เทียบ "พานทองแท้" ปมเอี่ยวฟอกเงินฉาว ชี้ "โอ๊ค"ถ้าผิด ถอนหงอก "ประธาน กรธ." เคยนั่งประธานบ.กฤษฎดาฯ ต้องโดนข้อหาทุจริต-ฟอกเงินด้วย ข้องใจเล่นงาน "ลูกทักษิณกับพวก" กลุ่มเดียว ที่เหลืออีก 150 ราย รับเงินคล้ายกันแต่ไม่ถูกดำเนินคดี

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) - 28 ก.ย. 60 นายชุมสาย ศรียาภัย ทนายความของนายพานทองแท้ ชินวัตร เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ หลังจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีฟอกเงินกับนายพานทองแท้ โดยมีพ.ต.ต วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษรับหนังสือ

นายชุมสาย กล่าวว่า คดีนี้ ปปง. ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ ในความผิดอาญาฐานฟอกเงิน โดยเห็นว่าเช็คจำนวน 10 ล้านบาท ที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ สั่งจ่ายให้นายพานทองแท้ เป็นการโอนเงินในรูปแบบของการทำธุรกิจทางการค้า ซึ่งนายพานทองแท้ไม่ทราบว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการกระทำผิด และไม่มีเจตนาพิเศษที่จะซุกซ่อนหรือปิดบังอำพราง พฤติการณ์ของนายพานทองแท้ ยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.ฟอกเงินมาตรา 5 (1) และ (2) นอกจากนี้ยังกังวลว่าการสอบของดีเอสไอเจาะจงอยู่เฉพาะกลุ่มของนายพานทองแท้และพวกเท่านั้น ทั้งที่ข้อเท็จจริงมีนิติบุคคลและบุคคลได้รับการเงินจากกล่มกฤษฎากว่า 150 ราย เหตุใดจึงพยายามดำเนินคดีกับคนเพียงกลุ่มเดียว

“ผมเชื่อว่า นายพานทองแท้ไม่มีพฤติการณ์ฟอกเงินและไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับบริษัทกฤษดาและบริษัทในเครือไม่ว่าในฐานะกรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเป็นพนักงาน จึงถือเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น การที่บริษัทกฤษดาประสบปัญหาทางการเงินจนต้องขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย และหากการกู้เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตย่อมมีผู้รับรู้ในวงจำกัดเพียง 3 กลุ่ม คือ ผู้บริหารของกลุ่มกฤษดา ผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย และผู้บริหารของธนาคารกรุงเทพ ดังนั้นนายพานทองแท้ย่อมไม่มีทางทราบข้อเท็จจริงได้เลยจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลฎีกา เช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆทั่วไป” นายชุมสาย กล่าว

นายชุมสาย กล่าวอีกว่า ส่วนเช็คจำนวน 10 ล้านบาทที่นายรัชดา กฤษดาธานนท์ นำมามอบให้นายพานทองแท้ เมื่อเดือน พ.ค. 47 เกิดขึ้นก่อนจะมีตรวจสอบการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งนายวิชัย (บิดาของนายรัชดา) เป็นนักธุรกิจใหญ่มีฐานะทางสังคมเป็นมหาเศรษฐีและเป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์มากมาย บุคคลภายนอกที่ได้รับเงินจากนายวิชัย ซึ่งรวมถึงนายพานทองแท้ย่อมจะเชื่อโดยสุจริตว่าเงินของนายวิชัยนั้นได้มาโดยสุจริต นอกจากนี้จากการตรวจสอบย้อนหลังยังพบว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทกฤษดามหานคร ฯ ต่อเนื่อง 20 ตั้งแต่ปี 35-55 แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหานายมีชัยว่ามีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตและฟอกเงิน เท่ากับว่าพนักงานสอบสวนเชื่อว่านายมีชัย ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทอันถือเป็นบุคคลภายในโดยตรง ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือทราบว่ามีการทุจริตของบริษัทในเครือ ดังนั้นนายพานทองแท้ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกยิ่งจะต้องไม่ทราบมากกว่านายมีชัย

“นอกจากนายพานทองแท้แล้ว ยังมีบุคคลและนิติบุคคลอีก 150 ราย ที่ได้รับเงินในลักษณะคล้ายคลึงหรือเหมือนกันกับนายพานทองแท้ แต่กลับมีการดำเนินคดีกับกลุ่มของนายพานทองแท้เท่านั้น ผมในฐานะทนายความยืนยันว่านายพานทองแท้ไม่มีเจตนาฟอกเงิน และได้คืนเงิน 10ล้านบาทให้นายรัชดาไปแล้ว หลังพบว่าการลุงทุนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ส่วนการนายพานทองแท้โอนเงินจากบัญชีหนึ่งไปไว้อีกบัญหนึ่ง ก็เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรม ไม่ใช่เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดอำพราง เพราะหากต้องการปกปิดหรือซุกซ่อนคงต้องถอนเป็นงินสดเพื่อมิให้ติดตามได้ ที่สำคัญเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อเทียบกับวงเงินกู้ 9,900 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.1 ซึ่งนับว่าน้อยมาก หากจะช่วยปกปิด ซุกซ่อน หรืออำพราง ต้องทำถึง 1,000 ครั้ง ด้วยเหตุผลทั้งหมดนายพานทองแท้จึงเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีเหตุผลที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานฟอกเงิน จึงเข้าร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้ระงับการแจ้งข้อกล่าวหากับนายพานทองแท้" ทนายความระบุ

ด้านพ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีผู้มายื่นหนังสือให้ดีเอสไอสอบสวนคดีดังกล่าวเพิ่มเติมหลายครั้ง พบว่าคำร้องเป็นประเด็นเดียวกันไม่มีประเด็นใหม่เพิ่มเติม จึงได้มอบข้อมูลที่เกี่ยวกับคดีเพื่อให้พนักงานสอบสวนพิจารณาประกอบสำนวน ส่วนคำร้องขอความเป็นธรรมในวันนี้จะเสนอให้พ.ต.อ.ไพสิฐ เพื่อมอบให้พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนดำเนินการต่อไป

ก่อนหน้านี้นายวันชัย บุนนาค ได้ยื่นคำร้องขอให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่ากากรระทรวงอุตสาหกรรม กับนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ซึ่งร่วมเป็นคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย ที่ร่วมลงมติอนุมัติเงินกู้ให้กับบริษัทกฤษดามหานคร ในข้อหาทุจริตและฟอกเงินด้วย