100 ปี วันพระราชทานธงชาติไทย ร้อยดวงใจ ไทยทั้งชาติ

100 ปี วันพระราชทานธงชาติไทย ร้อยดวงใจ ไทยทั้งชาติ

ผู้ว่าฯ สระบุรี นำขรก.ร่วมเชิญธงชาติในกิจกรรม 100 ปี วันพระราชทานธงชาติไทย ร้อยดวงใจ ไทยทั้งชาติ

เมื่อวันที่ 28 กันยายน เวลา 07.00น. นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชจังหวัดสระบุรี นำส่วนราชการจังหวัดสระบุรีร่วมร้องเพลงชาติไทยและชักธงขึ้นสู่ยอดเสาที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา พร้อมเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมประดับธงชาติตามบ้านเรือน

ทั้งนี้มติ ครม.เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 เห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย และกำหนดให้เชิญและประดับธงชาติในวันดังกล่าว เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของไทย การประกาศให้เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นวันแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วิวัฒนาการของธงชาติไทย จากในอดีตไทยเคยใช้ธงชาติในหลายรูปแบบ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งแต่ก่อน ปี 2325 ประเทศไทยเคยใช้ธงพื้นแดงเป็นสัญลักษณ์ เพื่อติดต่อการค้าตั้งแต่สมัยอยุธยา จากนั้นวิวัฒนาการของธงชาติไทย เริ่มเปลี่ยนรูปแบบมา จนถึงปี 2394 เริ่มใช้ช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาเป็นสัญลักษณ์ ปี 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ.2460 ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 โดยเรียกว่า “ธงไตรรงค์” ซึ่งการพระราชทานธงชาติไทย สะท้อนถึงความเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ปัจจุบันทั่วโลก มี 54 ประเทศ ที่กำหนดให้มีวันธงชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย และในอาเซียนเพื่อนบ้านของไทยมี ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งการกำหนดวันธงชาติของต่างประเทศ ล้วนอิงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ การสร้างชาติของแต่ละประเทศ สอดคล้องกับในอดีตของประเทศไทยซึ่งเคยใช้กลวิธีนี้ในการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ เช่น สมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงครามที่ได้ส่งเสริมความเป็นชาตินิยม

“พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460”ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2460 มาตรา 3 ได้กำหนดลักษณะของธงชาติสยามไว้ว่า มีรูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 1 ใน 3 ส่วน ของขนาดความกว้างของธงอยู่ตรงกลาง มีแถบขาวกว้าง 1 ใน 6 ส่วน ของขนาดกว้างของธง ข้างละแถบขนาบสีน้ำเงิน แล้วจึงเป็นแถบสีแดงกว้างเท่ากับแถบสีขาว ประกบอยู่ที่ชั้นนอกอีกข้างละแถบ และกำหนดให้เรียกธงชาติสยามที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ว่า “ธงไตรรงค์” ให้ใช้ชักในเรือพ่อค้าวานิช และในสถานที่ต่างๆ ของสาธารณชนบรรดาที่เป็นชาติสยามโดยทั่วไป

ธงไตรรงค์มีโอกาสไปสะบัดพลิ้วในยุโรปเป็นครั้งแรกในปีต่อมา คือปี 2461 เมื่อไทยส่งทหารเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 และเมื่อสงครามสงบลง ธงไตรรงค์ยังไปสะบัดพลิ้วในพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะที่นครปารีส ลอนดอน และบรัสเซลล์ด้วย เป็นการประกาศให้โลกรู้จักธงชาติไทยด้วย