ทรูฯชี้สงครามราคาเน็ตองค์กรแข่งดุ

ทรูฯชี้สงครามราคาเน็ตองค์กรแข่งดุ

ทรูอินเทอร์เน็ตฯเร่งอัดโซลูชั่น-บันเดิลบริการเสริม หวังตอกย้ำเป็นอันดับหนึ่งในตลาด ครองแชร์ 26% ปีนี้วางเป้าหมายขยายตัว 7% กวาดรายได้กว่า 2,500 ล้านบาท เชื่อปีนี้ตลาดโตแต่ไม่หวือหวา แม้ปริมาณคนใช้แบนด์วิธสูงเหตุเพราะคู่แข่งจงใจดัมพ์ราคาทำกลไกตลาดเสีย

นายวสุ คุณวาสี ผู้อำนวยการฝ่ายขายธุรกิจทั่วไป บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ในปี 2559 ทรูอินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีส่วนแบ่งทางการตลาดลูกค้าองค์กรเป็นอันดับ 1 คือ 26% ส่วนอันดับ 2และ3 มีส่วนแบ่งที่ 19% คือบมจ. ซีเอสล็อกซ์อินโฟ และบมจ.ทีโอที อันดับ 4 คือบมจ.กสท โทรคมนาคมที่ 7% และอันดับ 5 คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวรเลสเน็ตเวิร์ค (เอดับบลิวเอ็น) ที่ 6% โดยในปีที่แล้ว ทรูอินเทอร์เน็ตสร้างรายได้ให้กลุ่มทรูฯมากกว่า 2,400 ล้านบาท โดยในปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 7% หรือราว 2,570 ล้านบาท โดยในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาทำรายได้ไปแล้วราว 1,240 ล้านบาท

ทั้งนี้ การทำตลาดของทรูอินเทอร์เน็ตจะชูจุดเด่นด้านโซลูชั่นล้ำสมัยและหลากหลาย ช่วยให้การทำธุรกิจและเทคโนโลยีเป็นเรื่องง่าย เดินหน้ารุกตลาดลูกค้าองค์กรแบ่งตามประเภทธุรกิจ นำเสนอบริการอินเทอร์เน็ตครบวงจรแบบ (วัน สต๊อป เซอร์วิส) อีกทั้ง ยังให้บริการแยกช่องสัญญาณระหว่างลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กรอย่างชัดเจน ทำให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เร็วและมีเสถียรภาพสูง ล่าสุดได้มีการปรับเพิ่มขนาดช่องสัญญาณ (แบนด์วิธ) ระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงของลูกค้ากลุ่มองค์กรอย่างต่อเนื่อง และขยายเพิ่ม (คอนเทนต์ ดีลิเวอร์รี่ เน็ตเวิร์ก หรือ ซีดีเอ็น) ซึ่งแนวโน้มการใช้งานอินเทอร์เน็ตของกลุ่มลูกค้าองค์กรมีการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น จากการเติบโตของคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ และการใช้งานโซลูชั่น

“ในปีนี้เราลงทุนมากกว่า 400 ล้านบาทเพื่อขยายแบนด์วิธอีก 250 กิกะบิตทำให้โดยรวมขณะนี้เรารองรับให้บริการได้ 700 กิกะบิตรับปริมาณการใช้งานที่มหาศาล แต่ในแง่รายได้รวมของอุตสาหกรรมกลับอยู่ในทิศทางที่ไม่ขยายตัว จากมูลค่าโดยรวม 10,000 ล้านบาท เนื่องจากมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำสงครามอย่างหนัก เข้าประมูลงานโครงการลดราคาจากปีที่แล้ว 30-50% ซึ่งทำให้กลไกของการแข่งขันผิดเพี้ยนไป”

เขา ระบุว่า ขณะนี้ทรู อินเทอร์เน็ต มีลูกค้าองค์กรทั้งประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนกว่า 9,000 ราย จาก 5 เซ็กเตอร์ 1.เอ็นเตอร์ไพรส์ 2.เอสเอ็มอี 3.อสังหาริมทรัพย์ 4.ราชการ และ 5.สถานศึกษา ซึ่งการใช้งานราคาแพคเก็จของลูกค้าองค์กรในกลุ่มดังกล่าวมีตั้งแต่ 3,000-1 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทรู อินเทอร์เน็ตเดินหน้ากลยุทธ์การตลาดให้เข้าถึงองค์กรในทุกประเภทธุรกิจ ด้วยการนำเสนอบริการอินเทอร์เน็ตและโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการให้เหมาะสมตามความต้องการใช้งานของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาลูกค้าเดิมด้วยบริการหลังการขาย จากทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน