ลดตัวตน... เพื่อในหลวง

ลดตัวตน... เพื่อในหลวง

มีคนมากมายอยากทำงานถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่ต่างจากศิลปินกลุ่มนี้

.........................

สามสาวศิลปินกับงานภาพเหมือนในหลวง รัชกาลที่ 9 แม้งานศิลปะจะเป็นสิ่งที่ทั้งสามรักมากที่สุด แต่เธอก็มีชีวิตมุมอื่นๆ ด้วย

“อาชีพหลักเขียนรูป ตั้งแต่จบมา ไม่เคยทิ้งเลย ต้องเขียนภาพทุกวัน การเขียนรูปทำให้มีสมาธิและใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำ เหมือนการปฎิบัติธรรม ว่างก็อาสาวาดรูปถวายวัด หรือไม่ก็เขียนภาพประกอบในหนังสือถวายวัด” นัยนา โชติสุข ศิลปินเซอร์เรียลิสต์ เล่าชีวิตตัวเอง และบอกว่า คนที่อยากวาดภาพ ก็ต้องฝึกวาดเยอะๆ 

“วาดภาพอะไรก็ได้ ต้นไม้ใบหญ้า ไม่สวยก็ไม่เป็นไร ให้ฝึกเยอะๆ ”

และด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนละเมียดละไม ช่างสังเกตตามแบบศิลปิน เธอชอบนั่งทำงานเงียบๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกลงบนภาพวาด เธอ บอกว่า ตั้งแต่เด็กๆ เห็นอะไรก็ชอบพินิจพิจารณา มองดูว่า ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ 

“การทำงานศิลปะเอื้อให้เราถ่ายทอดความรู้สึกด้านในออกมาได้เต็มที่  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแนวเหนือจริง”

และเมื่อมีโอกาสมาช่วยเพื่อนเขียนภาพในหลวง รัชกาลที่ 9 เธอบอกว่า หลังจากในหลวง รัชกาลที่ 9  เสด็จสวรรคต ปีที่แล้วทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ต้องการจัดแสดงภาพ 89 ภาพของพระองค์ท่าน จึงต้องช่วยกันเขียนภาพ ตอนนั้นอาจารย์นุรญะ มะหะนิ เพื่อนศิลปินอีกคนที่เชี่ยวชาญเรื่องสี อยากให้ภาพเหมือนพระองค์ท่านมี 9 สี จึงผสมสีขึ้นใหม่

“เราอยากจดจำพระองค์ท่านตอนที่ทรงแข็งแรงที่สุด เราผสมสีขึ้นใหม่ ช่วยกันวาดภาพลงสีแค่สองวัน” นุรญะ มะหะนิ ศิลปินอีกคนที่เป็นทั้งอาจารย์สอนศิลปะ และมีงานประจำจัดดอกไม้และออกแบบงานศิลปะให้โรงแรมแห่งหนึ่ง กล่าว

 “คนเรียนศิลปะมาสามารถทำงานได้ไปจนตาย ตอนเด็กๆ เราเคยเป็นติวเตอร์ ก็เลยมีนิสัยชอบสอน เวลาไม่มีเงินก็สอนศิลปะให้คนที่อยากเรียน มีตั้งแต่เด็กจนถึงสูงวัย เคยมีคนจ้างให้ไปสอนที่ฮ่องกง หรือบางคนอยู่ต่างประเทศมาเมืองไทย ก็ให้เราไปสอนศิลปะให้ หลายคนบอกว่าไปเรียนตามคอร์สศิลปะ ให้วาดไปเรื่อยๆ ไม่เคยได้เรียนทฤษฎี เราสอนทฤษฎ๊ด้วย เอาหลักสูตรตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยมาสอนแบบรวบรัดให้เข้าใจได้เลย สอนผสมสีด้วย เพราะเราเคยทำวิจัยเรื่องสีมาก่อน บางคนวาดรูปไม่เป็นเลยก็วาดได้ บางทีในชั่วโมงเรียนสองสามชั่วโมง เราก็สอนเต็มที่ทั้งวัน จนคนเรียนสามารถขึ้นรูปเองได้ เราสอนศิลปะเพราะต้องหาเงินเลี้ยงลูกและแมวหนึ่งตั (หัวเราะ) มีเวลาก็ทำงานศิลปะของตัวเอง  ”

หากถามว่า ระหว่างการจัดดอกไม้ สอนศิลปะ และวาดภาพ อาจารย์นุรญะ ชอบอะไรมากที่สุด

เธอ บอกว่า รักการวาดภาพมากที่สุด แต่ถ้าใครสั่งให้ทำ ก็ไม่ทำ หรือมาพูดสะกิดใจนิดเดียว ก็ไม่เขียนภาพให้

“ตอนที่เขียนรูปในหลวง เขียนแล้วรู้สึกเศร้า เรื่องอะไรเกี่ยวกับในหลวง เราทำให้ได้หมด จะให้ช่วยลงสีพื้นๆ ก็ทำได้ เพราะพระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต”

ส่วนศิลปินอีกคน อาภรณ์ สิงหเรือง นอกจากเขียนภาพ เธอยังทำงานออกแบบให้ธุรกิจครอบครัว ​

เธอถนัดเรื่องเย็บปักถักร้อย โดยเฉพาะการใช้ด้ายในงานศิลปะ และมีโอกาสทำภาพเหมือนในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยใช้ด้ายมาเย็บบนกระสอบแล้วดึงเป็นลายเส้น 

“เราเอาของที่มีอยู่แล้วมาใช้ เหมือนแนวพระราชดำริพระองค์ท่านเรื่องความพอเพียง เราจึงเอาเศษผ้ามาใช้ ออกแบบภาพพระองค์ท่านไว้ก่อน แล้วใช้เทคนิคเย็บผ้าดึงด้าย อาศัยเพื่อนๆ สองคนมาช่วยทำ งานนี้ไม่ใช้สีและพู่กันเลย“

เมื่อถามถึงความชอบส่วนตัว อาภรณ์ บอกว่า ชอบการทำงานศิลปะที่มาจากเศษวัสดุ

“ภาพที่พระองค์ท่านทรงยืนโต้ลมบนเขาที่เชียงดาว เราเห็นถึงความงามที่พระองค์ประทับอยู่ตรงนั้น รู้สึกถึงอุปสรรคมากมายที่พระองค์ต้องเผชิญ เป็นงานศิลปะโดยการคิดเทคนิคใหม่  เพราะเราเคยทำงานเย็บกระเป๋าและหมวก แล้วต้องดึงด้ายทิ้ง ก็เห็นว่าสวย จึงเอาเทคนิคนี้มาใช้ เป็นงานคอนราดผสมผ้าและเส้นด้าย”

และทั้งหมดคือ แรงบันดาลใจในงานศิลป์ของสามสาวศิลปิน