“ลานาดีน”เวชสำอางรวงข้าว มฟล.การันตีด้วยวิทยาศาสตร์

“ลานาดีน”เวชสำอางรวงข้าว มฟล.การันตีด้วยวิทยาศาสตร์

“ลานาดีน” 2 แบรนด์ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงามแบ็คอัพด้วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เปิดตัวในงานครบรอบ 19 ปีสถาปนามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โชว์ความแตกต่างและเหนือกว่าแบรนด์อื่นๆ เพราะเจ้าของคือ สถาบันอุดมศึกษาแถวหน้าของไทย

“ลานาดีน” 2 แบรนด์ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงามแบ็คอัพด้วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เปิดตัวในงานครบรอบ 19 ปีสถาปนามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โชว์ความแตกต่างและเหนือกว่าแบรนด์อื่นๆ เพราะเจ้าของคือ สถาบันอุดมศึกษาแถวหน้าของไทย

ภาพความเสียหายของผลิตผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ จำนวนไม่น้อยได้รับความเดือดร้อน นำมาสู่การศึกษาวิจัยเพื่อนำประโยชน์จากข้าวมาใช้ในวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม และยังสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากยิ่งขึ้น  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) สนใจการใช้นวตกรรมในการเพิ่มมูลค่าหรือการสร้างประโยชน์ใหม่ๆ ให้กับผลิตผลทางการเกษตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยมาโดยตลอด ซึ่งมีอาจารย์จากสำนักวิชาต่างๆ ทำการศึกษาวิจัยเรื่องข้าวในแง่มุมต่างๆ หลากหลาย และความสำเร็จหนึ่ง คือเมื่อ ผศ.มยุรี กัลยาวัฒนกุล และคณะ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง พบสารสำคัญที่ให้ผลดีต่อการเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพผิว 

กลุ่มผู้วิจัยทำการศึกษาสารสกัดรวงข้าว 5 สายพันธุ์ที่ปลูกมาก คือ ข้าวจ้าวสุพรรณบุรี 1, พิษณุโลก 2, ขาวดอกมะลิ 105 หรือ หอมมะลิ, และข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 และ กข 6  โดยได้พบว่า รวงข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในช่วงระยะแรกของการออกดอก คือ 0 – 7 วัน ก่อนเข้าสู่ระยะที่เมล็ดข้าวแก่เต็มที่ มีปริมาณฟีนอลิครวมสูงที่สุด และมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส เอนไซม์อีลาสเตสและคอลลาจีเนสได้ดี อีกทั้งสารสกัดที่เตรียมได้มีความคงตัวดีภายในสภาวะเร่งแบบ heatcool และเมื่อพัฒนาเป็นตำรับเวชสำอางรูปแบบครีมน้ำมันในน้ำที่มีความคงตัวทางเคมีและกายภาพดีไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ทั้งยังผ่านการทดสอบประสิทธิภาพต่อผิวในอาสาสมัคร พบครีมผสมสารสกัดสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นผิวตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ลดรอยหมองคล้ำและลดริ้วรอยผิว ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 และ 8 ตามลำดับ ทั้งยังสามารถกระชับผิวและเพิ่มความเรียบผิว ตลอดจนได้รับความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ในด้านความหนืด สี กลิ่น การกระจายตัวของครีม การซึมซาบบนผิว ความเหนอะและความชุ่มชื้นผิว  

“รวงข้าว 20 กิโลกรัม สกัดได้สารสำคัญมูลค่าสูงได้ 1 กิโลกรัม งานวิจัยนี้จึงช่วยเพิ่มมูลค่าของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยเพื่อเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์โดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น นำไปพัฒนาใช้ประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ครีมผสมสารสกัดรวงข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่มีประสิทธิภาพต่อผิวแล้ว สารสกัดมาตรฐานรวงข้าวขาวดอกมะลิ 105 ยังสามารถนำไปต่อยอดในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรูปแบบอื่นๆ ได้ เช่น เซรั่ม เจล โลชั่น เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนานวตกรรมใหม่จากข้าวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของข้าวไทย” คณะผู้วิจัย กล่าว

นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น การเตรียมสารสกัดรวงข้าวเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและเครื่องสำอางหรือกรรมวิธีการผลิตสารสกัดจากรวงข้าว ได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ มฟล. ด้วยการประสานงานโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและพัฒนานวัตกรรม มฟล. หรือ Mae Fah Luang University Intellectual Property Management and Innovation Development Office : MFii ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ครีมรวงข้าว : ลานาดีน จัสมิน ไรซ์ เอจ ดิไฟอิ้ง เฟเชียล ครีม 

มฟล. ยังมีผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่พร้อมส่งต่อให้ภาคธุรกิจเอกชนตลอดจนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการจัดทำต้นแบบแล้ว 16 ผลงาน ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เฉพาะที่ มฟล.เป็นผู้ทรงสิทธิ  39 ผลงาน และผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการอนุญาตให้สิทธิ  11 ผลงาน