10เทรนด์เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต

10เทรนด์เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต

เนื้อไก่เทียมจากถั่ว โรงยิมสมองหรือก้าวแรกแห่งนาโนโรบอท เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมไทยที่ล้อกับ 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่ควรจับตามองตามคาดการณ์จาก สวทช. หวังช่วยนักลงทุนทำความเข้าใจทิศทางและแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเลือกพิจารณาลงทุนให้เหมาะสม

เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้อาจจะเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหลายประเภทที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

“ธรรมเนียมปฏิบัติทุกปีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช. ในการเปิดเผยข้อมูล 10 เทรนด์เทคโนโลยี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบเบื้องต้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า บางชนิดอาจได้เป็นผลิตภัณฑ์ บางชนิดอาจได้แค่ต้นแบบหรือเป็นการทดสอบเบื้องต้นในผู้ป่วย” นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

‘รักษ์โลก’ติดลมบน

1. สารเสริมสุขภาพเนรมิตได้ (Phytonutrients) ปัจจุบันสามารถนำผักผลไม้มาสกัดเอาสารสำคัญ และทำให้อยู่ในรูปลักษณะที่ชวนบริโภค ไม่ว่าจะเป็น แคปซูล ผง แท่ง หรือละลายน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารมีประโยชน์จากพืชออกสู่ตลาดเพิ่มมากในแต่ละปี เรียกสารดังกล่าวรวมๆ ว่า Phytonutrients หรือ Phytochemicals ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มของอาหารเสริมเพื่อสุขภาพหรือฟังก์ชันฟู้ด

2. เนื้อสัตว์ไม่ต้องฆ่า (Cellular Agriculture) เนเธอร์แลนด์ทดลองนำเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อวัวที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการมาทำเป็นแฮมเบอร์เกอร์ แนวคิดการผลิตเนื้อสัตว์จากเซลล์แบบนี้ มาจากความต้องการผลิตเนื้อสัตว์แบบยั่งยืน ดีต่อโลก โดยใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเซลล์และเพิ่มจำนวนสเต็มเซลล์อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีนี้มีข้อดีคือ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 14.5% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด เป็นต้น

3. จุลินทรีย์ผลิตสารมูลค่าสูงจากอากาศ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ผลิตแบคทีเรีย 2 ชนิดคือ ซินนีโคค็อกคัส ที่สังเคราะห์แสงโดยตรึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ แล้วเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาล ก่อนส่งต่อให้แบคทีเรียชีวาเนลลาเปลี่ยนให้เป็นกรดไขมัน สามารถนำไปใช้ผลิต “คีโตน” ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำคัญของสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ และน้ำมันดีเซล

4. บรรจุภัณฑ์กินได้ ผลิตจากผลผลิตทางการเกษตร เพื่อใช้ห่อหุ้มอาหารไม่ให้เกิดความเสียหาย ยืดอายุการเก็บรักษา คงคุณค่าทางสารอาหารและสามารถรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ พร้อมกับส่วนที่ห่อหุ้มอยู่ได้เลย โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ปัจจุบันมีงานวิจัยและเริ่มทดลองใช้ในหลายประเทศ

5. ถุงปลูกเพิ่มผลผลิต หากเอ่ยถึงนอนวูฟเวนส์ (nonwovens) หรือ “ผ้าไม่ถักไม่ทอ” อาจไม่เป็นที่รู้จัก แต่ตัวอย่างที่คุ้นเคยและพบได้แพร่หลาย คือ หน้ากากอนามัย เนื้อวัสดุมีลักษณะคล้ายกระดาษ แต่ให้สัมผัสนุ่มคล้ายผ้า ผลิตภัณฑ์แบบนี้อาศัยการขึ้นรูปจากเส้นใยโดยตรง ทั้งนี้ นักวิจัยจากศูนย์เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิจัยถุงปลูกนอนวูฟเวน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลิตผลทางการเกษตรสุขภาพ-การแพทย์เฉพาะบุคคล

6. หุ่นยนต์หมอนาโน จากปัญหาตัวยารักษามะเร็งขาดความจำเพาะ จึงทำลายเซลล์มะเร็งเป้าหมายได้แค่ 1–2% ที่เหลือกลับทำลายเซลล์ดี ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา ทีมวิจัยที่ศึกษานำทีเซลล์มาใช้เป็นนาโนโรบอทนำส่งยาฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะ หรืออาจใช้นำส่งอนุภาคนาโนบางอย่าง ที่เมื่อกระตุ้นด้วยรังสีจะทำให้เซลล์มะเร็งตาย โดยไม่กระทบต่อเซลล์ปกติข้างเคียง

7. เข็มจิ๋วจิ้มไม่เจ็บ (Nano Needle) เข็มขนาดเล็กมากๆ มีเส้นผ่านศูนย์กลางระดับไมโครและนาโนเมตร พัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย แล้วใช้ทดสอบประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับอาสาสมัคร ขณะนี้มีงานวิจัยเพื่อสร้างเข็มจิ๋วที่เหมาะกับการฉีดยาหรือวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการฉีดอินซูลินสำหรับผู้เบาหวาน อีกด้วย

8. บล็อกเชนเพื่อสุขภาพ คือ เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลธุรกรรม ที่ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถเก็บข้อมูลและใช้การเข้ารหัส หรือ คริปโตกราฟี (cryptography) เพื่อป้องกันการแอบแก้ไขข้อมูล และกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูล ทำให้ระบบมีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้คนทำหน้าที่บริหารจัดการข้อมูล ปลอดภัยจากการแอบแก้ไขและแอบเข้าถึงข้อมูลตัวอย่างเช่น Block M.D. บริษัทสตาร์ทอัพกำลังพัฒนา Electronic Health Record หรือ EHR บนบล็อกเชน โดยใช้โครงสร้างเวชระเบียน หรือประวัติผู้ป่วยมาตรฐาน ในปัจจุบันนั่นเอง

9. โรงยิมสมอง สมองเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนมาก ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นับแสนนับล้านเครื่อง เพื่อจำลองการทำงานของสมองเพียงเสี้ยววินาที แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเซนเซอร์ที่นำมาศึกษาสมองได้ดี เช่น เทคโนโลยีสร้างภาพประสาท (Neuroimaging) ที่อาจเคยเห็นเครื่องมือพวกนี้ในโรงพยาบาลม เช่น เครื่องสแกนเอ็มไอร์ไอ หรือ อีอีจี มีเซนเซอร์ต่างๆ ที่ช่วยให้อ่านข้อมูลสมองได้สะดวกและเรายังมีเทคนิคการวิเคราะห์ บิ๊กดาต้า ทำให้สามารถอ่านข้อมูลสมองได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นศาสตร์ใหม่ที่เรียกรวมว่าเป็น นิวโรอินฟอร์เมติกส์

10. พิมพ์ฟังก์ชัน 3 มิติ (Functional 3D Printing) ข้อมูลจาก IDTechEx ระบุว่า ตลาดวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติคาดว่าจะเติบโตและมีมูลค่าตลาดทั่วโลกสูง 7 แสนล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ในอนาคตอันใกล้ วัสดุใหม่ๆ เช่น วัสดุคอมพอสิต จะช่วยให้สามารถพิมพ์วัสดุที่มีคุณสมบัติเฉพาะต่างๆ ได้หลากหลายขึ้น ทำให้สร้างอุปกรณ์ที่ทำงานได้ทันทีหลังพิมพ์เสร็จ เช่น การพิมพ์พลาสติกนำความร้อน เพราะมีวัสดุโลหะผสมอยู่ เช่น วัสดุผสมคอมพอสิตกับอนุภาคหรือเส้นใยของทองแดง หรืออะลูมิเนียม สามารถนำไปใช้ทดแทนชิ้นส่วนโลหะได้ เช่น ชิ้นส่วนโคมไฟรถยนต์ หรือใช้ระบายความร้อนในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ หรือ TOPIC ในสังกัดเนคเทค สวทช. ร่วมมือกับบริษัท เฮเดล เทคโนโลยี ประเทศไทย ผลิตเส้นลวดพลาสติกนำไฟฟ้าด้วยวัสดุคอมพอสิตผสมกราฟีน ที่สามารถนำไฟฟ้าได้ดีที่สุดในโลก มีความต้านทานไฟฟ้าน้อยกว่า 0.5 โอห์มต่อเซนติเมตร สามารถขึ้นรูปได้ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติทุกชนิด และออกวางจำหน่ายไปทั่วโลกแล้ว

\\\\\ ล้อมกรอบ \\\\\\\ 

ประชาชนต้องรู้ทัน-รับมือ

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเทคโนโลยีด้านอาหารและการแพทย์ ที่บังเอิญสอดคล้องกับเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) นอกจากจะต้องพัฒนาด้านคุณภาพ ความปลอดภัยและอาหารจำเพาะบุคคล ที่เคยพูดถึงในปีก่อนๆ แต่ในปีนี้จะพูดถึงเทคโนโลยีแก้ปัญหาโลกร้อนไปพร้อมๆ กับปัญหาขาดแคลนเนื้อสัตว์ ขยะบรรจุภัณฑ์จำพวกพลาสติกย่อยสลายยากที่กำลังล้นโลก

ทั้งยังมีปัญหาสารอาหารที่ดีมีประโยชน์แต่หากินยาก หรือมีรูปลักษณ์ กลิ่น หรือสัมผัส ไม่น่ากิน ขณะที่เทคโนโลยีด้านการแพทย์นั้น จะพบปัญหาการเข้าไม่ถึงข้อมูลการแพทย์ส่วนบุคคล การป้องกันความเป็นส่วนตัว ไปจนถึงปัญหาใหญ่อย่างการถดถอยของระบบประสาทและความจำในผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม 10 เทคโนโลยีที่ควรจับตามองในปีนี้ ส่วนใหญ่ครอบคลุมเรื่องอาหาร สุขภาพ และการแพทย์ โดยมีเรื่องของเทคโนโลยีการพิมพ์และการเกษตรเข้ามามีบทบาทด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนในการทำความเข้าใจทิศทางและแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเลือกพิจารณาลงทุนให้เหมาะสม เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้อาจจะเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหลายประเภทที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ข้อมูลเหล่านี้ยังสำคัญสำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อให้ทันรับมือกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีใกล้ชิดกับเราอย่างมากโดยคาดไม่ถึงในทุกมิติของชีวิต