แกะรอย “คาร์แคร์แดนปลาดิบ” ช็อทคัทแฟรนไชส์บุกภูธร

แกะรอย “คาร์แคร์แดนปลาดิบ” ช็อทคัทแฟรนไชส์บุกภูธร

เป็นครอบครัวคนรักรถจึงอ่านใจคนรักรถด้วยกันอย่างแม่นยำ ถึงคราต้องผุดธุรกิจคาร์แคร์คลินิกดูแลรถ จึงเป็นรายแรกในไทยที่นำนวัตกรรมเคลือบสีรถด้วยแก้วมาใช้จนครองตลาดรถหรู รุกสู่ตลาดระดับกลาง หวังปูพรมภูธร

เด็กผู้หญิงทั่วไปมักจะชอบสะสมตุ๊กตา หรือสะสมงานเย็บปักถักร้อย แต่ผู้หญิงแมนๆ อย่างธีรรัตน์ จงประเสริฐรองประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีทีเอส กรุ๊ป จำกัด กลับรักและหลงใหลในการสะสมโมเดลรถยนต์ตั้งแต่เด็ก เมื่อแต่งงานกับนักธุรกิจที่มีงานอดิเรกเป็นนักแข่งรถ อย่างชินพล จงประเสริฐประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีทีเอส กรุ๊ป จำกัด จึงเป็นที่มาของการเปิดร้านคาร์แคร์ที่ชื่อว่า สตาร์ วอช 

ชินพล ลงทุนบินลัดฟ้าไปญี่ปุ่น เพื่อแสวงหาเทคนิคดูแลรักษารถให้เงางามยาวนาน ด้วยนวัตกรรมพิเศษจากแดนปลาดิบ มาประยุกต์กรรมวิธีให้เหมาะสมกับสภาพอากาศบ้านเรา เป็นวิธีการเคลือบแก้วแบบพ่น เรียกว่า Crystal Sealed ปั้นแบรนด์ “ซีทีเอส” ตั้งแต่นั้นมา จนวันนี้เข้าสู่ปีที่14 แล้ว

“10 กว่าปีที่แล้วเมืองไทยยังไม่มีใครทำเคลือบแก้ว ก็ไปเรียนรู้นวัตกรรมแล้วมาปั้นแบรนด์ซีทีเอส ในช่วงที่เปิดสาขาแรกบนถนนประดิษฐ์มนูธรรม คิวจองเคลือบแก้วกันยาว ต้องจองล่วงหน้าเป็นเดือน จนต้องขยายเพิ่มอีก 4 สาขา ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ รัชดาภิเษก เอ็นเค ออโต้อเวนิว ถนนกาญจนาภิเษก และถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 3" ธีรรัตน์ เล่า และยังบอกด้วยว่า 

หัวใจสำคัญที่ทำให้บริการเคลือบแก้วแบบพ้นโดนใจคนรักรถหรูู และหรูมาก น่าจะเป็นเพราะการลุยตลาดเป็นเจ้าแรก ทำให้ผู้คนจดจำแบรนด์ซีทีเอสว่าเป็นผู้ชำนาญด้านการเคลือบแก้วรถยนต์ ดันให้กลายเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบัน

อีกปัจจัยเสริมที่ทำให้ซีทีเอส เป็นตัวจริงในสายตาของคนรักรถ เพราะชินพล เป็นกูรูที่ผู้ชำนาญด้านเทคนิค ที่ดั้นด้นเดินทางไปแสวงหานวัตกรรมเคลือบดูแลรถถึงญี่ปุ่น โดยมีภรรยาเป็นกองหนุนเพราะมีเครือข่ายในแวดวงรถหรู จึงเข้าไปแนะนำบริการด้วยตัวเอง บอกปากต่อปาก

“เป็นเพราะจับกลุ่มพรีเมี่ยม ที่ตอบโจทย์ความต้องการดูแลรักษารถยนต์ที่ยังไม่มีใครทำ ตลาดจึงตอบรับรวดเร็ว เมื่อลูกค้าใช้แล้วบอกต่อทำให้ซีทีเอสเป็นผู้นำตลาด"

จากตลาดที่ไม่มีคนมองเห็น กลายเป็นตลาดเคลือบแก้วรถ ที่มีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 3,000 ล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกตัวแต่ในกลุ่มรถหรู ราคาสูงกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป

ทว่า ปัจจุบันการบริการเคลือบแก้ว เริ่มเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น แต่ยังมีเซ็กเมนท์ตลาดกลางหรือรถยนต์ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทลงมา ที่มีรถยนต์อยู่ราว 2.6 -3.2 แสนคัน จากยอดการซื้อรถยนต์ปีละ 5-6 แสนคัน สัดส่วน 80% เป็นรถยนต์กลุ่มระดับกลางจนถึงทั่วไป (Standard -Middle End) โดย 65% เป็นสัดส่วนที่ต้องการเคลือบแก้ว

จากโอกาสตลาดที่เกิดขึ้น ทำให้ซีทีเอส ต้องการขยายบริการไปสู่ลูกค้ากลุ่มนี้ สานเป้าหมายการเป็นผู้ครองตลาดรถยนต์เคลือบแก้วบริการครอบคลุม“ทุกเซ็กเมนท์”ตั้งแต่ตลาดกลางจนถึงตลาดบน 

คิดได้ดังนั้น ชินพล เลยต้องลัดฟ้าไปญี่ปุ่นอีกรอบ เพื่อศึกษาโมเดลธุรกิจของแบรนด์คีปเปอร์ (KeePer) แฟรนไชส์เคลือบแก้วที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เพื่อเข้าไปศึกษาโมเดล และลงทุนนำเข้าแฟรนไชส์ คีปเปอร์มาเจาะตลาดรถยนต์ระดับกลางในไทยโดยเฉพาะ

“เราอยากจะนำโมเดลธุรกิจของคีปเปอร์ มาพัฒนาในเมืองไทย เพื่อทำให้ธุรกิจขยายไปในกลุ่ม Middle End อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทั่วประเทศด้วยงบลงทุน 30 ล้านบาท ในการพัฒนาศูนย์ต้นแบบที่รามอินทรา พร้อมกับทำตลาดให้กับผู้แทนจำหน่าย” ธีรรัตน์ เล่า 

แฟรนไชส์จากแดนปลาดิบยังโดดเด่น และแตกต่างตรงที่มีระบบขายแฟรนไชส์แต่ละระดับชัดเจน และมีระบบพัฒนามาตรฐานที่เป็นมาตรฐานช่างต้องผ่านการอบรมและสอบ และมีน้ำยาผลิตเอง ซึ่งคีปเปอร์พัฒนาขึ้นมาเอง 3 สิ่งที่ทำให้การถอดโมเดลมาปรับใช้กับตลาดเคลือบแก้วรถยนต์ในไทย ขยายธุรกิจรุกกลุ่มเป้าหมายได้ทะลวงตรงจุด

เมื่อซีทีเอส นำคีปเปอร์เข้ามา ผนึกกำลังกับมาตรฐานเคลือบแก้วจากญี่ปุ่น บวกกับชื่อเสียงของฐานลูกค้าในไทยที่ทำให้ขยายกลุ่มลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

“ฐานลูกค้าเดิม เป็นลูกค้าซีทีเอสอยู่แล้วก็อยากลองใช้บริการกับรถยนต์ระดับรองลงมาบ้าง ส่วนลูกค้ากลุ่มใหม่ก็อยากลองแบรนด์ที่มีชื่อเสียงจากญี่ปุ่น”

โดยรูปแบบ แฟรนไชส์ออกแบบมา 3 ประเภท คือ1. แบบโปรช็อป เอ็กคลูซีฟ (Pro Shop Exclusive Coating Center)ล็อกตัวแทนแบบเป็นรายเดียวในจังหวัด

2.ประเภทโปรช็อป (Pro Shop Car wash & Car care beauty Center)เปิดตัวแทนทั่วไป ล็อก 1 อำเภอมี 1 ราย   และ 3.แบบ คีปเปอร์ ช็อป (Keeper Shop Showroom & Car Care)เป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์ แต่ละประเภทรับประกันการเคลือบ 1-5 ปีขึ้นอยู่กับแพ็คเกจ

โดยซีทีเอส เป้าหมายภายใน 5 ปี มีตัวแทนรวมกัน 40 จังหวัด หรือ 40 สาขา เริ่มขายแฟรนไชส์ปี 2560 เป็นปีแรก คาดว่าจะมี 10 สาขา

พาร์ทเนอร์รายแรกกล้าทุ่มทุนสร้าง คือที่ จ.พิษณุโลก เป็นสาขาที่ใหญ่เทียบเท่าศูนย์ต้นแบบที่ รามอินทรา โดยเป็นทุนท้องถิ่นชื่อ ฮกอันตึ๊ง กรุ๊ป ซึ่งเป็นตัวแทนจำหนา่ยรถอิซูซุ ที่ยอมลงทุนตั้งศูนย์ทั้งหมด 15 ล้านบาท เพื่อหวังพัฒนาเป็นศูนย์ต้นแบบในพื้นที่ภาคเหนือ

“ดีลเลอร์ที่แรกคือพิษณุโลกที่กล้าทุ่มพัฒนาศูนย์ขนาดใหญ่ เพราะเชื่อว่าตลาดเคลือบแก้วยังใหม่ และเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คนรักรถ ที่ยังไม่มีใครไปรุกในต่างจังหวัด โดยที่คีปเปอร์ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งแต่ใช้ซีทีเอสเป็นฐานเชื่อมไปยังดีลเลอร์แต่ละรายที่เข้าในตลาดภูมิภาคได้เป็นอย่างดี”

----------------------------

Key to Succes

แฟรนไชส์เคลือบแก้วรุกภูธร

-หลงใหล สนุกกับการทำงานธุรกิจเกี่ยวกับรถ

-ลงทุนบินไปศึกษานวัตกรรมเคลือบแก้วที่ญี่ปุ่น

-จับเซ็กเมนท์ครบวงจร เริ่มจากรถหรูสู่รถระดับกลาง

-นำระบบแฟรนไชส์มาบุกภูธร