GetKaset สืบสานความงาม วิถีสังคมเกษตรไทย

GetKaset สืบสานความงาม วิถีสังคมเกษตรไทย

ธุรกิจเพื่อสังคมปั้นจากเด็กมหาวิทยาลัยส่งการบ้านอาจารย์ คิดปลดล็อกวังวนพ่อค้าคนกลางกดราคาของดีจากไร่ เปิดตลาดออนไลน์ฟรีเชื่อมเกษตรกรดีลกับคนซื้อโดยตรง ผ่านเว็บไซต์ Getkaset

เรากำลังพูดถึง ธันยธร จรรยาวรลักษณ์” หรือแนน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ “เก็ทเกษตร” (Getkaset) เธอคือพี่ใหญ่ของทีมนักศึกษาที่เรียนจบมาได้ 1-2 ปี เจ้าของไอเดียตั้ง“ตลาดกลางสินค้าเกรตร”ซื้อขายออนไลน์ ที่อินกับสังคมเกษตรไทย

“การได้ไปลงพื้นที่จริงของเกษตรกรไทย ทำให้อิน ยิ่งพอเห็นผลผลิตที่ปลูกก็เห็นว่าดีจริง แต่กลับได้รับราคาที่ไม่เป็นธรรม ไม่สมเหตุสมผล เราเลยอยากจะหาตลาดกลางที่ไม่กดดราคารับซื้อ มีการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร มาช่วยเกษตรกร"

เธอเล่าว่า เว็บไซต์ “Getkaset” ความหมายตรงตัว คือ การ “ให้” และ “ได้รับ” ด้านการเกษตร ซึ่งเป็น“วิถีรากเหง้า”ของเกษตรกรไทยที่เต็มไปด้วยการ“แบ่งปัน”

แรกเริ่มแนนคิดพัฒนาเว็บไซต์ตัวกลางสินค้าเกษตรมาจากไอเดียส่งการบ้านให้กับอาจารย์ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ในปี 2558 พร้อมกับชักชวนเพื่อนๆ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาเสริมทีม แต่เมื่อทุกคนเรียนจบต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปทำงาน 

เว็บไซต์นี้จึงเหลือเพียง “แนน” ผู้เริ่มต้นความคิดที่ยังอินอยู่กับรอยยิ้มเกษตรกรต่อไป

สังคมไทยเป็นสังคมที่น่ารัก ชอบแบ่งปัน ช่วยเหลือ มีอะไรหรือปลูกอะไรได้ก็มาแบ่งปัน หรือแลกเปลี่ยนกัน นี่คือวัฒนธรรมที่เป็นเสน่ห์ของสังคมไทยที่ทำให้เธอประทับใจ อยากให้คงอยู่เช่นนี้แม้โลกใหม่จะหมุนไปเร็วแค่ไหน ก็ตาม

แนนเล่าว่า ตอนนี้นอกจากเธอและทีมงานคนรุ่นใหม่แล้ว ยังมีเกษตรกรเก่งๆ ระดับกูรูมาเป็นกองหนุนสำคัญ ร่วมปั้นเว็บไซต์เพื่อถ่ายทอดวิชาการเกษตร ทำให้เว็บไซต์เกิดความคึกคักอย่างไม่มีเงื่อนไข 

การเกิดขึ้นของเว็บไซต์จึงเป็นการทำงานกันอย่างลงตัว ของคนชำนาญการทำสินค้าเกษตร กับ คนรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาต่อยอด เชื่อมโยงซัพพลายเชนจากแหล่งผลผลิตทางการเกษตรสู่มือผู้บริโภค “ในราคาที่เป็นธรรม เจ้าตัวย้ำ

โดยปัจจุบันเว็บไซด์นี้มีสมาชิกราว 1,200-1,500 คน โดยปีนี้จะเป็นปีของการรวบรวมเนื้อหาเพื่อพัฒนาให้เว็บไซด์นี้ให้เป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันความรู้ด้านการเกษตร อย่างไม่คิดมูลค่า ไปพร้อมกับการทำตัวเองเป็นตลาดกลาง ก่อนจะเริ่มคิดหารายได้จากเว็บไซด์ในปีหน้า ด้วยการเปิดพื้นที่รับโฆษณา พร้อมกับการ“รีวิว”สินค้าเกษตรที่ใช่ 

“ช่วงแรกเว็บไซด์ยังไม่มีรายได้จริงจัง แม้จะมีโฆษณาสินค้าวิ่งเข้ามามากกว่า 10 รายต่อเดือน เพราะต้องการคัดเลือกผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่น่าเชื่อถือ และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยจริง ๆ แต่ต่อไปเว็บไซด์จะยืนอยู่ได้ก็ต้องมีรายได้จากค่าโฆษณามาหล่อเลี้ยง"

ทว่า สิ่งที่จะไม่ทำคือการเก็บเปอร์เซ็นต์จากการขายของ เพราะขัดต่อเจตนารมณ์แรกเริ่มตั้งเว็บไซต์ที่ต้องการตัดพ่อค้าคนกลาง เราจึงไม่ทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลางเก็บค่าหัวคิว

แนนยังบอกด้วยว่า ในอนาคตอันใกล้กำลังคิดพัฒนา แอพลิเคชั่นด้านการเกษตร เพื่อต่อยอดจากเว็บไซต์ เพื่อทำเป็นแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทาง อาทิ การใช้แอพเป็นเครื่องมือในการส่งออกผลผลิตทางการเกษตร รวมไปถึงการพัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) ที่คาดการณ์ระยะเวลาการเพาะปลูก ฝน และระยะเวลาการเก็บเกี่ยว โดยระบุถึงช่วงเวลาที่ควรเพาะปลูก ใส่ปุ๋ย เก็บเกี่ยว หากพัฒนาสำเร็จ เชื่อว่าจะเป็น “จุดพลิก”ของสังคมเกษตรไทยมีความเป็นอัจฉริยะในการทำการเกษตรอย่างแท้จริง (Smart Farmer) ทำให้เกษตรกรมีแผนในการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนที่เรียกว่าระบบ CRP –(Community Resource Planning) 

นอกจากนี้ จะต้องหาแนวทางพัฒนาด้านโลจิสติกส์สินค้าเกษตร การหาแหล่งเงินทุน ไปพร้อมกัน 

เว็บไซต์ เก็ทเกษตร เป็นเว็บไซต์ด้านการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรแรกๆ ที่ยังคงอยู่ ท่ามกลางเว็บไซต์เกิดใหม่ พร้อมกันกับปิดตัวไปก็จำนวนมาก สิ่งที่ทำให้มีความโดดเด่นและแตกต่างคือ การสร้างขึ้นมาจากใจ มีความหลงใหลที่จะทำ เพื่อผลิตเนื้อหาให้ตอบโจทย์แวดวงการเกษตร ที่นิยมเสพเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ ปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เช่น เครื่องจักรแนวใหม่

“ทีมงานทุกคนมาทำด้วยใจทำให้ฟรีๆ ไม่คิดเงิน เป็นการขับเคลื่อนเว็บไซต์จากความรู้สึกอบอุ่น ที่พร้อมจะแบ่งปันคุณค่าแบบไม่มีกั๊ก ขณะที่เว็บไซต์อื่นเปิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ของสปอนเซอร์ บางราย หรือ บางรายมีการก็อปปี้ จึงมีหลายรายปิดตัวลง แต่เว็บไซต์นี้ยังอยู่และขยายตัวต่อเนื่อง”

ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีอยู่ราว 23 ล้านคน เป้าหมายสูงสุดของทีมงานคือ หากดึงเกษตรกรไทยเข้ามาใช้พื้นที่เป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรของไทยจริงๆ ราว 10% เป็นเป้าหมายท้าทายที่ต้องไปให้ถึง เมื่อถึงตรงนั้น เก็ทเกษตรจะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาสังคมเกษตรไทยอย่างแท้จริง  

------------------------------- 

สาวตลาดทุน สู่นักพัฒนาเว็บไซต์เกษตร

ธันยธร จรรยาวรลักษณ์” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ “เก็ทเกษตร” เล่าว่า หลังจบการศึกษา ได้เข้าทำงานประจำที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ความที่ต้องทุ่มเทให้กับงาน  ทำให้ความถี่ในการอัพเดทข้อมูลในเว็บไซด์น้อยลง เป็นเหตุให้ยอดสมาชิกยังอยู่หลักพันต้นๆ

ทว่า ด้วยความที่อดีตเป็นเด็กสายกิจกรรมตัวยง ทำให้รู้จักคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน แต่อยู่ต่างมหาวิทยาลัย อย่าง สฐิปกรณ์ วิบูลย์ประพันธ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ “ชนาทิพย์ สุขประเสริฐ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่เสนอตัวเข้ามาร่วมพัฒนาเว็บไซด์ ทีมงานใหม่ที่ที่หัวใจตรงกันจึงเข้ามาต่อยอดเว็บไซต์อีกครั้ง

โดยมีสฐิปกรณ์ ที่เรียนด้านบริหารธุรกิจเข้ามาพัฒนาโมเดลธุรกิจในเว็บไซด์

จึงเป็นจุดเริ่มของการสร้างชีวีตชีวาให้กับเว็บไซด์อีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่แนนเริ่มลาออกจากงานประจำเพื่อมาสานฝัน ปั้นเว็บไซต์อย่างเต็มตัว 

เพราะนี่คือสิ่งที่ทำให้เธอเปี่ยมสุข ที่อยู่แวดล้อมเกษตรกรชาวไร่ ชาวนาที่เอ็นดูเธอเหมือนลูก หลาน

“เกษตรกรแต่ละคนมีความน่ารัก ทำเว็บไซต์นี้จึงขับเคลื่อนจากความอบอุ่นที่ได้รับจากการแบ่งปันของเกษตรไทย เสน่ห์ของสังคมไทยที่ต้องช่วยกันพัฒนาให้โลกได้รับรู้”