ส่องอนาคต 'ซอฟต์แวร์ไทย'

ส่องอนาคต 'ซอฟต์แวร์ไทย'

ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งให้ทุกเมืองในประเทศก้าวเข้าสู่สมาร์ทซิตี้ในปี 2564 นั้น การเตรียมความพร้อมของประเทศนอกจากจะต้องอาศัยการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของคนในชาติแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “เครื่องมือ” ที่จะมาช่วยหนุนการเปลี่ยนผ่า

ด้วยเทคโนโลยี ไอโอที บิ๊กดาต้า รวมไปถึงการใช้งานคลาวด์ในประเทศ ซึ่งระบบทุกอย่างจำเป็นต้องใช้งานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ในรูปแบบโอเพ่น แพลตฟอร์ม

นายพงศ์พรหม ยามะรัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาดและผู้ก่อตั้ง บริษัท อาร์เอ็มไอ โกลบัลเวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการดับเบิลยูพีเอส ออฟฟิศ โปรแกรมสำนักงานสำหรับคนไทย ในเครือ คิงซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การที่ไทยจะก้าวสู่ “ดิจิทัล เนชั่น” จำเป็นที่ประชากรต้องมีทักษะและโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับสูง 

“หากไทยมีระบบคลาวด์ในประเทศ จะทำให้สามารถขยายผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ใช้ต้นทุนที่น้อยลงอย่างมาก ซึ่งจะช่วยลดการรั่วไหลเงินออกนอกประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท รวมถึงประโยชน์ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของผู้ใช้บริการฝากข้อมูลในหน่วยงานต่างๆ”

ส่วนของดับเบิ้ลยูพีเอสเองมีแผนที่จะนำระบบการให้บริการคลาวด์เข้ามาตั้งในประเทศไทย เพื่อรองรับข้อมูลทางเศรษฐกิจ ทั้งการจัดเก็บ การประมวลผล และการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า รองรับไอโอที มุ่งส่งเสริมการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ เช่น การจัดตั้งคลาวด์ สตอเรจ ในประเทศไทย และจะพัฒนาต่อยอดไปสู่ "Document Cloud and Financial Cloud" ในอนาคต 

นอกจากนี้ สำหรับเอสเอ็มอีไทยนั้น บริษัทให้ความสนับสนุนให้ความรู้ทางด้านการใช้โปรแกรมออฟฟิศสำนักงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ และยังได้ร่วมพัฒนาโปรแกรมสำนักงานสำหรับภาครัฐ ซึ่งจะมีแบบฟอร์มและตัวอักษร ตามมาตรฐานราชการที่ถูกต้อง เพื่อการใช้ทรัพยากรและลดความเสี่ยงจากคุกคามด้านเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานต่างๆ ด้วย

ซอฟต์แวร์ไทยยังสดใส

นางสาวชัชฎา อภิชาสุทธากุล นายกสมาคมการค้าส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวว่า ใน 3 ปีนี้สมาคมได้วางยุทธศาสตร์การรุกตลาดการส่งออกซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพร์ซของไทยไปยังตลาดเอเชียแปซิฟิค 

โดยวางเป้าหมายยอดขายโดยรวมของกลุ่มสมาชิกสมาคมฯราว 2,800 ล้านบาท ผ่านการเพิ่มศักยภาพของโซลูชั่นต่างๆ ของบริษัทสมาชิกด้วยการเชื่อมต่อกันโดยใช้ระบบเทคโนโลยีแบบเปิด สร้างสภาวะแวดล้อมของชุดพัฒนาซอฟต์แวร์พร้อมใช้ หรือ (API Ecosystem Strategy) เป็นการสร้างคุณค่าให้เกิดคุณสมบัติใหม่ๆ ที่โซลูชั่นเดิมทำไม่ได้ 

พร้อมกันนี้ สร้างความพร้อมเข้าสู่ยุคบิ๊กดาต้า และเอไอในปี 2561 สำหรับปี 2560 พุ่งเป้าหมายเน้นเข้าทำตลาดในกลุ่มสมาร์ทเฮลธ์ ,สมาร์ท ไฟแนนซ์, สมาร์ท เรสเตอรองส์ หรือกลุ่มงานซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงกลุ่มการบริหารจัดการเมืองทั้งระบบ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานถึงแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการประชาชน

ขณะที่ นายเฉลิมพล ปุณโณทก กรรมการกิตติมศักดิ์สมาคมฯ กล่าวเสริมว่า ในกลุ่มสมาร์ทเฮลธ์ได้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบเซ็นเซอร์เป็นโซลูชั่นหลัก และเน้นไปยังกลุ่มการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากการเข้าสู่ตลาดสังคมผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะเติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปีในกลุ่มนี้ ซีที เอเซีย โรโบติกส์ จะใช้หุ่นยนต์ “ดินสอ” ที่ได้รับการพัฒนาให้ขนาดเล็กลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ด้านราคาเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ ในการเข้ามาดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ เชื่อมต่อการสื่อสารกับลูกหลานและแพทย์ที่ดูแลได้ง่าย พร้อมลดจำนวนการใช้คนดูแล ซึ่งปัจจุบันกำลังจะเริ่มขาดแคลนโดยเฉพาะในชนบท รวมกับนวัตกรรมใหม่ๆที่จะรวมเข้ากับโซลูชั่นของสมาชิกสมาคมจะทำให้ตลาดนี้เกิดโซลูชั่นแนวใหม่ขึ้น

หันโฟกัสธุรกิจบริการ

นายวิษณุพงษ์ วงศ์วาสน์ เลขาธิการสมาคม ระบุว่า ในกลุ่มระบบบริหาร สำหรับ โรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้าปลีกแบบอัจฉริยะ ถือเป็นกลุ่มฐานรากธุรกิจของไทยที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศอย่างมากตามการเจริญเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

"เรามั่นใจว่ามีความชำนาญ อีกทั้งยังสามารถขยายฐานการใช้งานระบบออกไปยังลูกค้าต่างประเทศในหลายๆ ประเทศ ที่ผ่านมามีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อให้ธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวสามารถยกระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น"

ข้อมูลโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ระบุว่า ภาพรวมตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในประเทศไทยไม่รวมเกมและแอนิเมชั่น ปี 2560 และ 2561 มีแนวโน้มหดตัวลดลงราว 4-5% ต่อปี หรือมีมูลค่าการผลิตในประเทศราว 47,623 - 48,124 ล้านบาท สาเหตุสำคัญสืบเนื่องจากตลาดเปลี่ยน ธุรกิจหันไปใช้คลาวด์