BSG Glass โรงงานกระจก สู่องค์กรนวัตกรรม

BSG Glass โรงงานกระจก สู่องค์กรนวัตกรรม

ธุรกิจครอบครัวอายุ 50 ปี BSG Glass ผ่านจุดหักเหหลายระลอกทั้งต้มยำกุ้ง จนมาถึงยุคดิจิทัล รอดมาได้เพราะรู้จักปรับตัว ไม่เพียงทำกระจกขาย แต่เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจมาสู่การเป็น “องค์กรวัตกรรม” ปฏิวัติตัวเองให้ล้อไปกับเทรนด์ใหม่

แปลกใจไม่น้อยเมื่อ หินหอม บั๊กบีท (BUGBEAT) กวาดรางวัลนวัตกรรมและดีไซน์มาได้จากหลายเวทีทั้ง ญี่ปุ่น จีน และไทย ล่าสุดยังได้รับรางวัลผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกดีเด่น ประจำปี 2560 (Prime Minister’s Export Award 2017 : PM Award 2017) ด้านนวัตกรรมอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม

เหนือความคาดหมายตรงที่ หินรูปร่างฟองน้ำ มีรูพรุน และมีกลิ่นหอมที่วางสวยงามในชะลอมช่วยผ่อนคลาย ไล่ยุงไล่แมลง กลับไม่ใช่ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากผู้ประกอบการธุรกิจสปา แต่กลับเป็นการคิดค้น เล่น แร่แปรธาตุ ของบริษัทไทยเทคโนกลาส จำกัด (BSG Glass) ผู้ผลิตกระจกดีไซน์ตามอาคาร เปลี่ยนเศษกระจกที่เหลือทิ้ง มาสู่ เม็ดหินสี มีกลิ่นหอม

ผ่านคำบอกเล่าวิสัยทัศน์ของ จิรัฏฐ์ เลียวกิจสิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยเทคโนกลาส จำกัด (BSG Glass) ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมกระจกอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ธุรกิจเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 50 ปีจากผู้ผลิตกระจกรถยนต์ จนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งแต่รอดมาได้ จนส่งต่อธุรกิจมาถึงคนรุ่นลูกในปัจจุบัน

“เราเป็นองค์กรไม่หยุดนิ่งคิดหาสิ่งใหม่ตลอดเวลา ก่อนที่คนอื่นจะมาแทรกตลาดเรา เราก็ต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน ด้วยการมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง” นั่นคือแก่นคิดตั้งต้น ตั้งแต่เขาเข้ามานั่งบริหารธุรกิจครอบครัวแห่งนี้

ยุคของพ่อสอนเรื่องการมีวินัย ทำบัญชีต้นทุนให้มีกำไร อย่าคิดแข่งเรื่องขายของถูก แต่ให้คิดหนักเพื่อหาความแตกต่างของตลาดไว้ก่อน จึงตกผลึกที่การผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะนั่นคือ โจทย์ที่ทำให้ธุรกิจอยู่ยั้งยืนยง

เขายังเล่าย้อนถึงรากความคิดก่อนจะมาเป็นเม็ดหิน BUGBEAT มีกลิ่นหอมที่แปรรูปจากเศษกระจก จนเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมตอบโจทย์ความยั่งยืนของธุรกิจว่า หิน BUGBEAT มาจากการจัดการเศษกระจกเหลือทิ้งที่ปะปนมากับน้ำ โดยไม่ปล่อยทิ้งลงท่อให้อุดตัน ก่อนปล่อยสู่แม่น้ำ จึงคิดค้นกระบวนการกรองเศษกระจก และบำบัดน้ำ ส่วนเศษกระจกที่กองรวมเป็นปริมาณมาก เขาใช้เวลา 5 ปีค่อยๆวิจัยและพัฒนา (R&D) จนค้นพบคุณสมบัติของกระจกเมื่อผ่านการแปรรูปเป็นหินกระจกแล้วจะดูดซับน้ำได้ดี จึงเป็นที่มาของการนำไปผสมกลิ่นน้ำมันหอมระเหย เพื่อไล่แมลงและผ่อนคลาย พร้อมกับมีดีไซน์แบบไทยๆ

เขาบอกว่า เป็นการผสมระหว่าง “วัฒนธรรมกับนวัตกรรม” จึงมีกลิ่นอายความเป็นไทยอยู่ในผลิตภัณฑ์

“หลายองค์กรของเมืองไทยเมื่อมีเงินทุน และกำไรระดับหนึ่งจะไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือ สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองในรูปแบบอื่นที่ไม่เกี่ยวกับบริษัท แต่สำหรับ BSG Glass เราเงินนำไปลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจในระยะยาว” เขาเล่าหัวใจธุรกิจ

พร้อมกับระบุ 3 ปรัชญา ที่ทำให้ BSG Glass พัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นองค์กรที่ไม่เคยถูกทิ้งไว้ข้างหลังเมื่อตลาดเปลี่ยน ประกอบด้วย

1.คิดต่อยอดงานด้านนวัตกรรม จากทุนเดิมของธุรกิจ ตั้งแต่วัสดุเหลือใช้ ต่อยอดจากกระบวนการเดิม และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เป้าหมายคือ ไม่เหลือทิ้งวัสดุเหลือใช้ สร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจ

“ทุกครั้งที่ค้นหานวัตกรรม ต้องคิดต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิมเป็นหลัก เราไม่มองเพียงการสร้างความมั่งคั่ง แต่เรามองเรื่องเพิ่มนวัตกรรมทั้งกระบวนการผลิต เพื่อให้ผลตอบแทนคืนกลับมาทำให้ธุรกิจยั่งยืน”

2.สิ่งที่คิดต้องเป็นเจ้าของนวัตกรรม ไม่พึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ต้องเป็นเจ้าของสิทธิบัตร ที่มาจากความคิดตัวเอง

3.มีการวิจัยและพัฒนา  ทั้งกระบวนการผลิต จนเข้าใจวิธีพัฒนาต่อยอดไปรับจัดการเศษขยะเหลือทิ้งจากโรงงานกระจกอื่นๆในอนาคต จะช่วยทั้งระบบของโรงงานกระจก ลดภาวะโลกร้อน

ก่อนจะมาสร้างนวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่ง “จิรัฏฐ์” ยังระบุว่า แรกเริ่มกลุ่มธุรกิจพัฒนาตัวเองจากคำว่า “แตกต่างจากคู่แข่งเสมอ” นั่นจึงทำให้ธุรกิจก้าวนำคนอื่น เพราะเป็นคนเดียวที่เป็นเจ้าของความคิดและสิ่งประดิษฐ์ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร จะเป็นองค์กรนวัตกรรม ภายในอีก 5 ปี หรือในปี 2565

“วิสัยทัศน์ของธุรกิจ คือต้องการเป็นองค์กรนวัตกรรมชั้นนำของประเทศ เป็นเบอร์หนึ่งด้านนวัตกรรม ที่มีผลิตภัณฑ์ระดับโลก”

นั่นจึงทำให้ธุรกิจคิดค้น วิจัย และพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้สร้างเอง การมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลนวัตกรรม ทั้งจากในไทย จีน ญี่ปุ่น การันตีการสร้างระบบพัฒนานวัตกรรมที่เข้มแข็งในองค์กร ที่ทำให้ต้องรักษาความเป็นองค์กรคิดค้นสิ่งใหม่ หาความรู้ใหม่ๆตลอดเวลา

หากวางจุดยืนไว้เช่นนี้องค์กร BSG Glass จึงไม่ใช่โรงงานผลิตกระจกมีดีไซน์ แต่พร้อมจะทำธุรกิจอะไรก็ได้ที่ต่อยอดจากธุรกิจไปสู่นวัตกรรม

“ตอนเราคิดไปเรื่อยๆ ต่อเนื่อง จนสุดท้ายทุกอย่างก็เชื่อมต่อกัน หรือที่เรียกว่า Connecting the Dot” 

นั่นจึงทำให้ Bug beat ตั้งบริษัทลูกขึ้นมา โดยมีทีมงานพัฒนาธุรกิจใหม่ พร้อมลุยตลาดส่งออก ปัจจุบันในประเทศสินค้าวางจำหน่ายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยว อาทิ สยามดิสคัฟเวอรี่ และคิงเพาเวอร์และส่งออกไปแล้วในหลายตลาด อาทิ ตะวันออกกลาง ยุโรป สแกนดิเนเวีย และออสเตรเลีย

นอกจากการวางหลักชัยองค์กรนวัตกรรม คือ สิ่งที่ที่มุ่งไปแล้ว ทิศทางธุรกิจที่เดินต่อไปต้องสอดคล้องกับเมกะเทรนด์โลก อาทิ ความก้าวหน้าด้านดิจิทัล โดย BUGBEAT พัฒนาด้านการตลาดผ่านโซเชียลมิเดีย จากเดิมธุรกิจที่เน้นตลาดธุรกิจ (BtoB) ก็ขยายไปสู่ตลาดผู้บริโภค (BtoC) อนาคตกำลังคิดเชื่อมโยงไปสู่ โลกอินเตอร์เน็ท (IoT -Internet of Things)

รวมถึงเมกะเทรน์เรื่อง “ลดโลกร้อน” และ “ประหยัดพลังงาน” เป็นหัวใจสำคัญที่ทั่วโลกต่างมุ่งไปสินค้า BUGBEAT สอดคล้องกับเทรนด์ ทำให้ขยะจากโรงงานเป็นศูนย์ (Zero Waste) และใช้วัสดุจากธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากการเกาะเมกะเทรนด์ และคิดค้นพัฒนาองค์ความรู้ เป็นเจ้าของนวัตกรรมของตัวเองแล้ว สินทรัพย์สำคัญที่สุดของกลุ่มธุรกิจคือ “คน” เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนองค์กร ให้พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรม

เขายังวาง “ดีเอ็นเอ” ของการเลือกคนที่สร้างนวัตกรรมให้ BSG Glass ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพียงแต่เป็นคนมีวินัย รักครอบครัวเป็นคนดีซื่อสัตย์กับครอบครัว และมีใจรักในการทำงาน เพียงแค่นี้ พวกเขาเหล่านี้เป็นเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ พร้อมทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างสิ่งใหม่ให้กับองค์กรนวัตกรรมแห่งนี้