เผยชีวิตผู้ลี้ภัยฮินดูในบังกลาเทศ

เผยชีวิตผู้ลี้ภัยฮินดูในบังกลาเทศ

ผู้ลี้ภัยฮินดูจากเมียนมาหลายร้อยคน หลบเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของบังกลาเทศ มีข้าวและดาลรับประทานเต็มอิ่ม แตกต่างจากชาวโรฮิงญาผู้สิ้นหวังที่อาศัยอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ที่ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ส่งผลให้ชาวโรฮิงญากว่า 420,000 คน หนีไปยังบังกลาเทศ แต่ชาวพุทธและฮินดูก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน แม้จำนวนจะน้อยกว่ามาก  ชาวฮินดูส่วนใหญ่พลัดถิ่นอยู่ในรัฐยะไข่ ที่เข้าไปยังบังกลาเทศมีราว 500 คน จากปากคำของคนกลุ่มนี้เล่าว่า เดิมทีพวกเขาพยายามไปพักในค่ายผู้ลี้ภัยที่เต็มไปด้วยชาวโรฮิงญา แต่ความตึงเครียดระหว่างชุมชนบีบให้ต้องออกไปหาที่พักพิงในหมู่บ้านฮินดูท้องถิ่นในละแวกนั้นแทน

นายนิรันจัน รุโดร วัย 50 ปี ช่างตัดผมในเมียนมาเล่าว่า หมู่บ้านของเขามีชาวฮินดู 70 ครอบครัว ถูกปิดล้อมอยู่ 3 วัน ไม่สามารถออกไปหาอาหารได้ หลายคนเชื่อว่า ผู้ที่ลงมือโจมตีหมู่บ้านคือกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาอาระกัน (อาร์ซา) ผู้ก่อเหตุโจมตีป้อมตำรวจ

ความไม่ลงรอยกันบานปลายกลายเป็นความรุนแรงแม้แต่เมื่อหนีมาบังกลาเทศ วัยรุ่นชายฮินดู 3 คน เปิดแผลเป็นและรอยฟกช้ำให้ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีดู โดยกล่าวว่าเป็นฝีมือของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

นางปูจา มอลลิก วัย 18 ปี ผู้ที่พ่อแม่และสามีเสียชีวิตในรัฐยะไข่ เล่าว่า เมื่อเธอมาถึงค่ายกูตูปาลอง พวกผู้ชายบังคับให้เธอแต่งงานด้วย จนกระทั่งลุงมาช่วยไว้ จากนั้นเธอและคนอื่นๆ ก็ได้อาศัยอย่างปลดภัยในหมู่บ้านชาวฮินดู ที่ห่างจากค่ายกูตูปาลองแค่ 1 กม.เศษๆ

ขณะนี้ชาวฮินดูท้องถิ่นรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมาไว้ราว 200 คน อีก 300 คนอาศัยในเพิงพักใกล้เคียง ทุกคนได้รับอาหารครบทุกมื้อ ส่วนใหญ่มาจากการบริจาคของชาวฮินดูในพื้นที่

นายชาพร ชาร์มา หัวหน้าชุมชน เล่าว่า พวกเขาได้ยินข่าวว่าชาวฮินดูเข้ามาอยู่ในบังกลาเทศ และตั้งค่ายพักแรมอยู่ในป่า จึงออกไปหาและนำมาอยู่ในหมู่บ้าน จากนั้นก็ประสานชุมชนฮินดูทั่วประเทศ ขอรับความช่วยเหลือทั้งอาหารและที่อยู่อาศัย