เจ๋ง! มข.ผลิตก๊าซไฮเทนพลังงานทดแทนจากน้ำอ้อย

เจ๋ง! มข.ผลิตก๊าซไฮเทนพลังงานทดแทนจากน้ำอ้อย

เจ๋ง! นักวิจัย มข. พัฒนากระบวนการผลิตก๊าซไฮเทน พลังงานทดแทนใหม่จากน้ำอ้อย ค่าพลังงานสูงกว่าแก๊สธรรมชาติ มุ่งพัฒนาต่อยอดเพื่อการอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 4 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการแถลงข่าวผลงานวิจัยการผลิตก๊าซไฮเทนพลังงานทดแทนจากน้ำอ้อย ซึ่งเป็นผลงานของ ศ.ดร.อลิศรา เรืองแสง ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศ.ดร.อลิศรา เรืองแสง กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ (New Engines of Growth) โดยมุ่งเน้นการวิจัย ผนวกความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ ตลอดจนเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อขับเคลื่อนนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะศูนย์รวมองค์ความรู้แห่งภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงสนองตอบนโยบายรัฐ โดยการผลิตงานวิจัยที่ตอบโจทย์ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มุ่งเน้นให้เกิดพลังงานทดแทนที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนากระบวนการผลิตก๊าซไฮเทน พลังงานทดแทนใหม่จากน้ำอ้อย

ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากอ้อย นอกเหนือจากการใช้ผลิตน้ำตาล โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ขั้นตอนการวิจัยเริ่มจากการผลิตไฮโดรเจนในถังหมักไฮโดรเจนโดยใช้น้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตภายใต้กระบวนการหมักแบบไร้อากาศ ขณะที่น้ำหมักจากกระบวนการผลิตไฮโดรเจนถูกส่งไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตมีเทนในถังหมักมีเทน แก๊สไฮโดรเจน และมีเทนที่ผลิตได้ถูกนำมาผสมกันได้แก๊สผสมระหว่างไฮโดรเจนและมีเทนที่เรียกว่า “ไฮเทน” (hythane) ไฮเทนที่ผลิตได้ถูกนำไปทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าในเครื่องปั่นไฟขนาดเล็ก ผลการทดสอบกับเครื่องยนต์พบว่า ไฮเทนสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องปั่นไฟได้เป็นอย่างดี โดยมีประสิทธิภาพการทำงานที่ใกล้เคียงกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปกติ และค่าการสึกหรอของเครื่องปั่นไฟที่ใช้ไฮเทนก็ไม่มีความแตกต่างกับเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปกติ

“ไฮเทนมีค่าพลังงานสูงกว่าแก๊สธรรมชาติ (CNG) การใช้ไฮเทนในเครื่องยนต์สันดาปภายในจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครื่องยนต์ ช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิง และช่วยลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกและสารประกอบไฮโดรคาร์บอนลงได้มากกว่า 80% เมื่อเทียบกับการใช้แก๊สธรรมชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไฮเทนที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี”

ศ.ดร.อลิศรา กล่าวอีกว่า นอกจากน้ำอ้อยแล้ว วัตถุดิบอื่นๆ สามารถนำไปใช้ในการผลิตไฮเทนได้เช่นกัน เช่น น้ำเสียจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง น้ำเสียจากโรงงานผลิตน้ำตาล และของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ชานอ้อย ลำต้นปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบสำหรับการผลิตไฮเทนจากชีวมวลชนิดอื่นๆ ได้อีกด้วย เป็นการต่อยอดวัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศ และของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตรให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังถือเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐในการมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวในยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืน