ไปรษณีย์ไทยปั้น‘ดิจิทัลชุมชน’ดันโอทอปขายออนไลน์

ไปรษณีย์ไทยปั้น‘ดิจิทัลชุมชน’ดันโอทอปขายออนไลน์

ไปรษณีย์ไทย ลุยอีคอมเมิร์ซ ชู “พร้อมโพสต์-พร้อมส่ง"  พร้อมเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม “ดิจิทัลชุมชน” หนุนสินค้าโอทอปขยายตลาดออนไลน์

นายพิษณุ วานิชผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ปณท. จะเร่งพัฒนาการบริการและประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกำลังเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม “ดิจิทัลชุมชน” เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชน และสินค้าโอทอป ให้มีพื้นที่ในการกระจายตลาดสู่โลกออนไลน์ ขณะนี้คืบหน้า 70% จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ 

ปณท.ต้องการขยายบริการอีคอมเมิร์ซครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในชุมชนต่างจังหวัดที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี แพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับร้านค้าชุมชน ที่มาพร้อมระบบการบริหารงาน ณจุดขาย (Point of Sale : POS) เพื่อให้ร้านค้าชุมชนสามารถใช้เป็นช่องทางกระจายสินค้าให้สมาชิกชุมชน 

“พฤติกรรมการส่งสินค้าของลูกค้าที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว ปณท ได้จัดทัพบริการต่างๆ รองรับทุกความต้องการของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ”

ทั้งนี้ ได้นำระบบไอทีเข้ามาช่วยพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพตอบทุกโจทย์การส่งของธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งกลุ่มผู้บริโภคต่อผู้บริโภค (C2C) และธุรกิจถึงผู้บริโภค (B2C) อาทิ ระบบ พร้อมโพสต์ (Prompt Post) ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า C2C สามารถทำการจ่าหน้าและสร้างบาร์โค้ดการฝากส่งจากระบบอัตโนมัติได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งบริการพร้อมส่ง (กล่องสีฟ้า) ในราคาเหมาจ่ายทั่วประเทศที่ช่วยประหยัดเวลา ส่งได้ไม่ต้องรอคิว ด้วยช่องบริการพิเศษ (Fast Track) ที่ทำการไปรษณีย์ 47 แห่งในกรุงเทพฯ- และปริมณฑล 

ขณะเดียวกัน ลูกค้า B2C สามารถเลือกใช้บริการดี-แพ็กเกจ (D-Packet) ซึ่งมีบริการเสริมหลายรูปแบบที่เหมาะกับธุรกิจ อาทิ จุดรับฝากส่งสินค้า บริการรับสินค้าถึงที่อยู่ผู้ส่ง รวมถึงบริการเก็บเงินปลายทาง

สำหรับผลประกอบการตลาดขนส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซของ ปณท ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีรายได้ 10,687 ล้านบาท เติบโต 18%  จากช่วงเดียวกันของปี 2559 เป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย มั่นใจรายได้ปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย 26,000 ล้านบาท ซึ่ง ปณท ครองส่วนแบ่งตลาดขนส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซ 55% โดยในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนแบ่งตลาดของ ปณท ถือครองมากกว่า 70% พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 40%

ทางด้านนายรัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท โดยพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยเลือกซื้อสินค้าออนไลน์อยู่ที่ 3% เทียบการซื้อของออฟไลน์ ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 8.2% จากการคาดการณ์อัตราการเลือกซื้อของออนไลน์กับอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.2% เทียบเท่าระดับสากลภายในปี 2565 จากการสำรวจ พบว่า สินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องสำอาง เป็นสินค้า 2 อันดับแรกที่มีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์มากที่สุด