หุ่นยนต์ต้นทุนต่ำ ทางเลือกเอสเอ็มอี

 หุ่นยนต์ต้นทุนต่ำ ทางเลือกเอสเอ็มอี

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับสถาบันไทย-เยอรมัน อวดโฉม 2 เครื่องจักรต้นแบบจากกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับสถาบันไทย-เยอรมัน อวดโฉม 2 เครื่องจักรต้นแบบจากกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าปีงบ 2559 ได้แก่ หุ่นยนต์ต้นแบบต้นทุนต่ำ และระบบการทำความเย็นแบบดูดซับความร้อนที่ทำงานด้วยแหล่งพลังงานความร้อนอุณหภูมิต่ำ ด้านผู้พัฒนาย้ำชัดว่าไม่ใช่การทำวิศวกรรมย้อนรอยเหมือนในอดีต


โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบฯ โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี วท. เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนา ผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้าเครื่องจักร ส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งเป็นการเพิ่มตัวเลขการวิจัยลงทุนพัฒนานวัตกรรมของประเทศ


ตอบโจทย์ชิ้นส่วนยานยนต์


หุ่นยนต์ต้นแบบต้นทุนต่ำจาก “นิปปอน คิไค เอนจิเนียริ่ง” หนึ่งในโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าที่เข้ามาเป็นทางเลือกให้เอสเอ็มอีกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ใช้ทดแทนแรงงานคน รวมทั้งรองรับความต้องการเครื่องจักรในตลาดเพื่อนบ้าน
นายจารุพงษ์ พรมงคลเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นิปปอนคิไคเอนจิเนียริ่ง จำกัด ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบต้นทุนต่ำ กล่าวว่า ได้รับคำแนะนำด้านวิชาการและเทคนิควิศวกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาและสร้างเครื่องจักรต้นแบบจากผู้เชี่ยวชาญ วท. กระทั่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ใช้งานได้จริงเชิงพาณิชย์


หุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นระบบหยิบจับหรือเคลื่อนย้ายตำแหน่งชิ้นงานอัตโนมัติประเภท Gantry robot ที่ใช้แพร่หลายในโรงงาน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ สามารถหยิบชิ้นงานที่มีน้ำหนักสูงสุด 2 กิโลกรัม ความเร็วการทำงานสูงสุด 1.5 เมตรต่อวินาที


“จุดเด่นของหุ่นยนต์ต้นทุนต่ำคือ ผลิตได้ในประเทศทำให้ราคาถูกกว่าหุ่นยนต์นำเข้า 30% ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กสามารถนำไปใช้ได้ในราคาประมาณ 8แสนบาท ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำลงและประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น” นายจารุพงษ์ กล่าวในอนาคตจะขยายฐานตลาดไปประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการพัฒนามาตรฐานการผลิตที่สามารถตอบโจทย์ได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิศวกร ทำให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้ ทั้งนี้ เนื่องจากหุ่นยนต์ต้นแบบต้นทุนต่ำนี้ เป็นการพัฒนาจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไม่ใช่การทำวิศวกรรมย้อนรอยเหมือนในอดีต ทำให้ยากต่อการลอกเลียน นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการทำงาน อีกทั้งดีไซน์การทำงานที่ง่ายต่อการทำงานและบำรุงรักษา


ระบบทำความเย็นรุ่นกินไฟต่ำ


นอกจากนี้ โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบฯ ได้สนับสนุนบริษัท โกลเบกซ์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด พัฒนาระบบการทำความเย็นแบบดูดซับความร้อนที่ทำงานด้วยแหล่งพลังงานความร้อนอุณหภูมิต่ำ เพื่อทดแทนเทคโนโลยีเครื่องทำความเย็นในระบบปรับอากาศแบบคอมเพรสเซอร์ที่เปลืองไฟ เหมาะสำหรับการใช้งานในระบบทำความเย็นและระบบปรับอากาศ ช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 60-70% ทำให้ระยะการคืนทุนสั้น สามารถทำความเย็นได้สูงสุด 0.3-0.5 ตันความเย็น มีระบบแสดงอุณหภูมิของระบบน้ำร้อนและน้ำเย็นแบบดิจิทัล


“ระบบดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดใช้พลังงาน รวมถึงการนำใช้บ้านเรือนทั่วไปได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาต้นแบบและนำไปทดลองใช้ เพื่อเก็บตัวเลขข้อมูลการนำไปใช้ในแต่ละอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การประชุมต่างๆ เป็นต้น” นายพิชัย อัษฎมงคล ที่ปรึกษาโกลเบกซ์ฯ กล่าว


ด้านนางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยเริ่มให้ความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี อุปกรณ์ เครื่องจักรกลต่างๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิต มีมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้จากการจำหน่ายและการส่งออกสินค้าทั้งภายในและต่างประเทศ และช่วยการนำเข้ารายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มตัวเลขการวิจัยลงทุนพัฒนานวัตกรรมของประเทศเพิ่มขึ้น
2 เครื่องจักรต้นแบบเพื่อเอสเอ็มอีพร้อมทั้งผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฝีมือคนไทย ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในเชิงเศรษฐกิจสู่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ทำให้สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีภายในประเทศได้ในระยะยาว จัดแสดงในงาน Thai Tech EXPO 2017 วันที่ 20-24 ก.ย.นี้ ไบเทค บางนา