ท่องเที่ยวลุ้นโค้งสุดท้ายดันรายได้ปีนี้‘2.7ล้านล้าน’

ท่องเที่ยวลุ้นโค้งสุดท้ายดันรายได้ปีนี้‘2.7ล้านล้าน’

ท่องเที่ยว ลุ้นสัญญาณบวกโค้งสุดท้ายโกย 1.02 ล้านล้าน หนุนรายได้ปีนี้ทะลุเป้า 2.7 ล้านล้าน  ระบุทัวริสต์จีนฟื้นตัวแรงกระตุ้นตลาดคึกคัก โชว์ผลงาน 8 เดือน ต่างชาติเยือนไทย 23.5 ล้านคน จี้รัฐเร่งกิจกรรมโปรโมทต่อเนื่อง   

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันคาดการณ์รายได้ท่องเที่ยวไตรมาส 4 ยังอยู่ในทิศทางบวก คาดเติบโตไม่ต่ำกว่า 4%  ส่งผลให้รายได้รวมปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย 2.7 ล้านล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม  ยังต้องระมัดระวัง 2 ปัจจัยหลักที่อาจมีผลกระทบ ได้แก่ ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ที่มีการทดสอบขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือเป็นระยะ ทำให้เกิดความกังวลของนักท่องเที่ยว โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้น ได้แก่ เกาหลีใต้ ที่นักท่องเที่ยวจากจีนลดลงราว 50% 

สอดคล้องกับการประเมินทิศทางท่องเที่ยวช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ขององค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ) ที่ระบุว่าเอเชียและแปซิฟิก ตลาดขยายตัวราว 5.7% ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของโลกที่เติบโตราว 6.4% เพราะความไม่มั่นใจดังกล่าว

ปัจจัยต่อมา การแข่งขันจากประเทศคู่แข่ง แบ่งเป็นภายในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ ซึ่งมีการเปิดแคมเปญใหญ่ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งประเทศ รวมทั้งคู่แข่งจากยุโรปและตะวันออกกลาง ได้แก่ ตุรกี  อียิปต์ ที่นำเสนอโปรโมชั่นดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อเนื่อง

8เดือนต่างชาติเยือนไทย 23.5ล้าน

ทั้งนี้ สถานการณ์ท่องเที่ยว 8 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-ส.ค. มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาไทยกว่า 23.5 ล้านคน เติบโต 5.36% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นรายได้รวม 1.197 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.47% ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทย ช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) มีจำนวน 83.7 ล้านคนครั้ง เติบโต 3.3% สร้างรายได้แล้ว 5.3 แสนล้านบาท เติบโต 6.95%

ดังนั้น รวมรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด 1.727 ล้านล้านบาท  รักษาอัตราเติบโต 7.31%  แม้ว่าในเชิงปริมาณนักท่องเที่ยวไทย จะขยายตัว 3.3% เท่านั้น แต่เชื่อว่าด้วยการใช้จ่ายที่ขยายตัวสูงกว่ารายได้ จึงเป็นแนวโน้มที่ดีตามกลยุทธ์ที่รัฐบาลวางไว้ในเรื่องการให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ

นอกจากนั้น ยังมีตลาดที่ต้องจับตามองในการฟื้นตัวกลับมาแรง ได้แก่ “จีน”  เฉพาะไตรมาส 4 คาดว่าจะขยายตัวราว 68%  เหตุผลที่ตัวเลขสูง เนื่องจากเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ

“การแข็งค่าของเงินบาทช่วงที่ผ่านมา ไม่มีผลกระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะเป็นทิศทางที่ไม่แตกต่างจากภายในภูมิภาคมากนัก ขณะที่ตลาดหลักทั้งหมดยังมีการเติบโตที่ดี แต่ในส่วนของตลาดไทยเที่ยวไทย แม้จะขยายตัวเชิงปริมาณเพียง 3% แต่เชื่อว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และรายได้ที่ขยายตัวสูงน่าจะทำให้ถึงเป้าหมายตลาดในประเทศที่ 9.5 แสนล้านบาท และในภาพรวมของการท่องเที่ยวจะคิดเป็นสัดส่วน 20% ของจีดีพีประเทศ ยังเป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไป”

สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวเฉพาะเดือน ส.ค.มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาราว 3.13 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.66% สร้างรายได้  1.63 แสนล้านบาท เติบโต 11.72% โดยตลาดเอเชียตะวันออกยังครองส่วนแบ่งมากที่สุด 2.26 ล้านคน ตามด้วยยุโรป  เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง อเมริกา โอเชียเนีย และแอฟริกา ตามลำดับ

หากนับเฉพาะ 10 อันดับแรกที่ทำรายได้ให้ไทยสูงสุดที่ครองส่วนแบ่งรายได้กว่า 66% เทียบกับรายได้ต่างประเทศทั้งหมด จะประกอบด้วย จีน ที่เริ่มกลับมามีรายได้เพิ่มถึง 14.7% ตามด้วย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหราชอาณาจักร (ยูเค) ออสเตรเลีย ลาว สหรัฐ อินเดีย และฝรั่งเศส

หวั่นการเติบโตกระจุกตัว

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า แม้ว่าประเมินสถานการณ์ภาพรวมในช่วงไตรมาส 4 รายได้ด้านท่องเที่ยวจะเติบโตราว 10%แต่ความน่ากังวลคือ การกระจุกตัวอยู่เฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวหลัก ส่วนแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่เป็นเป้าหมายในการกระจายรายได้ ยังไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควร เนื่องจากมีอุปสรรคเรื่องการคมนาคมเข้าถึง โดยเฉพาะตลาดท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) ที่ยังไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวสะดวก แม้เริ่มมีความต้องการเดินทางเข้ามาแล้ว เพราะการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ที่ปูทางไปก่อนหน้านี้

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยลบที่เพิ่มเข้ามาคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีอำนาจในการใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวเหมือนเดิม เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่าไม่ใช่ภารกิจ ทำให้เดิมที่กลุ่มจังหวัดต่างๆ ที่มีแผนนำภาคธุรกิจเอกชนออกไปทำตลาด เช่น จัดโรดโชว์ หรือเข้าร่วมเทรดโชว์ ในตลาดต่างประเทศ ไม่มีงบประมาณทำได้ต่อเนื่อง เช่น คลัสเตอร์อันดามัน 3 จังหวัด กระบี่ ภูเก็ต พังงา ที่ปกตินำผู้ประกอบการราว 50 ราย ร่วมงานเทรดโชว์ 2 รายการใหญ่ของโลก เวิลด์ ทราเวล มาร์เก็ต (WTM) ที่ลอนดอน และไอทีบี เบอร์ลิน ที่เยอรมนี หลังจากเข้าร่วมงานในครั้งต่อไปด้วยงบประมาณเดิมที่มีอยู่แล้ว ครั้งต่อไปจะไม่สามารถร่วมได้อีก และอาจไม่มีโอกาสกลับเข้าไป เนื่องจากเป็นงานที่มีความต้องการจับจองพื้นที่สูง

จี้รัฐหนุนกิจกรรมเร่งจับจ่าย

ขณะที่ข้อตกลงด้านการช่วยเหลือกำลังซื้อในประเทศผ่านมาตรการด้านภาษีไม่คืบหน้า สทท.จึงต้องการให้รัฐบาลมุ่งกระตุ้นบรรยากาศการจับจ่ายผ่านการทำกิจกรรมหลักในภูมิภาคต่างๆ โดยเร่งสร้างการรับรู้ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 

“น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้เกิดการเดินทางทั่วถึงมากกว่า ต่างจากการใช้มาตรการภาษีที่จะมีผลต่อประชากรบางกลุ่มที่มีฐานรายได้ในระดับที่เสียภาษี และมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบการจดทะเบียนธุรกิจถูกต้อง ซึ่งอาจจะไม่รวมถึงกลุ่มท่องเที่ยวหรือร้านค้าชุมชน”

สำหรับตลาดต่างประเทศที่มาแรงในช่วง 8 เดือนแรก ประเทศที่มีการขยายตัวด้านรายได้สูงสุด ได้แก่ อาร์เจนติน่า เพิ่มขึ้น 65% ตามด้วย บราซิล รายได้เพิ่มขึ้น 58.77% อย่างไรก็ดี การขยายตัวสูงยังมาจากฐานรายได้ที่ต่ำ คือ 3,600 ล้านบาท และ 3,900 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากเป็นตลาดเกิดใหม่ แต่ที่ต้องจับตามองคือ “รัสเซีย” ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 33% หรือคิดเป็น 6.5 หมื่นล้านบาท