โค้งสุดท้ายฟื้นฟู 'ไอแบงก์'

โค้งสุดท้ายฟื้นฟู 'ไอแบงก์'

โค้งสุดท้ายฟื้นฟู “ไอแบงก์” ไขปมเดินมา3ปี..ทำไมยังไม่ถึงเป้าหมาย?

การแก้ไขปัญหาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ ตามแผนฟื้นฟูกิจการของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำลังเข้าสู่ช่วง “โค้งสุดท้าย” ที่จะเป็นตัวติดสินอนาคตของธนาคาร  และพิสูจน์“ฝีมือ”ของรัฐบาล รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ

โดยเฉพาะ “ ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์” ที่เหลือเวลาการทำงานในตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยอีกเพียง 5 เดือน เพราะจะอายุครบ65ปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องออกจากตำแหน่งตามระเบียบของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

นับจากวันแรกที่ “ชัยวัฒน์” ถูกส่งให้เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดไอแบงก์ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในเดือนส.ค.2557  จนถึงวันนี้ก็กินเวลามากว่า 3 ปี ถึงแม้การแก้ไขปัญหาไอแบงก์ จะดำเนินการไปได้แล้วหลายส่วน  แต่ก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ..  โดยเฉพาะการพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมทุน

และดูเหมือนว่า.. จะยังล่าช้าในความรู้สึกของสังคม

หลายคนอาจมองว่า โดนทั่วไปการแก้ไขปัญหากิจการธนาคาร เฉพาะธนาคารของรัฐ ไม่ได้มีอะไรใหม่ ที่ผ่านมาทุกครั้งที่ธนาคารรัฐมีปัญหาขาดทุน ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องรอให้รัฐบาลใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามา เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาธนาคารพาณิชย์ สุดท้ายก็ต้องหาพันธมิตร หรือทุนใหม่เข้ามา

หากเป็นเช่นนั้น... แล้วทำไมแผนงานของไอแบงก์ไม่ไปไหนสักที?

ต้องยอมรับว่า “ไอแบงก์”  มีความพิเศษ ที่แตกต่างจากธนาคารของรัฐทั่วไป การดำเนินงานต่างๆนอกจากจะต้องเดินตามขั้นตอนขององค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งแน่นอนว่ามีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ฝ่ายกำกับ และฝ่ายนโยบาย ยังต้องคำนึงถึงหลักศาสนา และประเด็นด้านความมั่นคง

ขณะที่สถานการณ์ของไอแบงก์ในช่วงนั้น เรียกว่าอยู่ในขั้น “โคม่า”  ทั้งขาดทุน มีหนี้เสียมากกว่าครึ่งของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งหนี้เสียเหล่านี้ล้วนมาจากการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ถูกต้อง มีการเอื้อประโยชน์จากคนใน และถึงแม้รัฐบาลจะประกาศให้ไอแบงก์ฟื้นฟูกิจการ ก็ยังมีความพยายามปล่อยสินเชื่อแบบผิดๆอยู่

พอร์ตสินเชื่อของไอแบงก์ก่อนที่จะเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ พบว่ามีสัดส่วนของสินเชื่อดีอยู่น้อยมาก ซึ่งธนาคารที่ดีทั่วไป จะมีสัดส่วนของหนี้ดีมากกว่า90% ส่วนใหญ่ก็มีมากกว่า 95%  และหากมากกว่า 95% ถือว่าใช้ได้ แต่ไอแบงก์มีสัดส่วนของสินเชื่อดีแค่ 20% เป็นหนี้เน่าที่เห็นชัดๆ ถึง50%และส่วนที่เหลือเป็นหนี้ที่ไม่ดี แต่ธนาคารประคับประคองแก้ไขอีก 30%

โดยหนี้เสียทั้งหมดเป็นสินเชื่อรายใหญ่และรายกลาง ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2553-2555 ที่เร่งตอบสนองความต้องการทางการเมือง และมีความไม่โปร่งใส ซึ่งไอแบงก์จะต้องติดตามหนี้ก้อนหนี้กลับมา มีทั้งการฟ้องแพ่ง เพื่อเรียกหนี้คืน  รวมถึงการเอาผิดทางอาญากับคนที่ทุจริต  ด้วยการส่งเรื่องให้ปปช.และปปท.ตรวจสอบ โดยปัจจุบันมีเรื่องที่ส่งให้ปปช.ตรวจสอบเกือบ 30 กรณี

นอกจากเรื่องสถานะการเงินของธนาคารแล้ว ไอแบงก์ยังมีปัญหาเรื่องบุคลากร มีพนักงานมกกว่า 2 พันกว่าคน และในระดับบริหารซึ่งมีดีกรีเป็นดร. แต่ไม่มีความรู้เรื่องธนาคารเลยแฝงอยู่ถึง 10 คน  ยังไม่รวมปัญหาเรื่องระบบเทคโนโลยีที่แบงก์ไม่มี  ทำให้ไม่สามารถเอาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาจะทำอะไรใหม่ๆได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเด็นเหล่านี้ ทำให้การแก้ไขปัญหาไอแบงก์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่ทำให้กระบวนการต่างๆล่าช้า หลักๆกลับอยู่ที่ขั้นตอนของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงความไม่ชัดเจนของฝั่งนโยบาย

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนฝ่ายนโยบายที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้หลายหน ตั้งแต่การเปลี่ยนรองนายกรัฐมนตรี จาก “ปรีดียาธร เทวกุล” มาเป็น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจาก “สมหมาย ภาษี” เป็น “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” เปลี่ยนผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จาก “กุลิศ สมบัติศิริ” เป็น “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ”

เป็นธรรมดาที่เมื่อ “เปลี่ยนคน” สิ่งที่ตามมาคือ ทฤษฎีในการแก้ปัญหาก็อาจจะเปลี่ยน

เรื่องนี้ “ชัยวัฒน์” บอกว่า ทุกคนที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ ทุกคนเป็นคนเก่ง และเป็นคนดี ...แต่ไม่ได้คิดเหมือนกัน

“ปัญหาอยู่ที่ทฤษฎีในการแก้ปัญหาแบงก์มีเยอะ หลายคนก็มองต่างกัน ตั้งแต่การปิดแบงก์แล้วเปิดใหม่  เพราะต้องลงทุน 1.8- 2 หมื่นล้านบาท เปิดแบงก์ใหม่ยังได้  แต่ไอแบงก์เป็นธนาคารเชิงสัญลักษณ์ ก่อตั้งโดยพรบ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีเรื่องความรู้สึกของพี่น้องชาวมุสลิม ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของธนาคาร และความมั่นคงของประเทศ ทำให้ไม่ปิดแบงก์”

ยังไม่รวมรายละเอียดในการดำเนินงานอื่นๆ ที่แม้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ทำให้งานติดขัดไปบ้าง  ทั้งจากส่งบัตรสนเท่ห์ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปตามหน่วยงานอื่นๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง การที่ไม่สามารถเรียกประชุมบอร์ด ในวาระสำคัญได้

แต่ถึงอย่างนั้น แผนงานการแก้ไขปัญหาไอแบงก์ในวันนี้ ก็ดำเนินการลุล่วงไปได้แล้วหลายส่วน ทั้งการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ เอเอ็มซี ของไอแบงก์ขึ้นมาโดยเฉพาะ มีชื่อเรียกสั้นๆว่า “ไอแอม” เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2559 เพื่อรับหนี้เสีย  หรือ  เอ็นพีเอฟ(NPF) ที่ไม่ใช่ลูกหนี้อิสลามออกไปบริหารกว่า 5 หมื่นล้านบาท

จากวันที่จัดตั้งไอแอม.. ผ่านไป 9เดือน  หรือวันที่ 29 มิ.ย.2560 ถึงได้มีการรับโอนหนี้ไป หลังจากโอนหนี้ก้อนนี้ออกไป ทำให้ไอแบงก์มีสถานะเป็นแบงก์ที่ดี หรือGood bank ไม่ใช่แบดแบงก์ (Bad Bank) อีกต่อไป

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีมติให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุนให้กับธนาคารในจำนวน 1.81 หมื่นล้านบาทแยกเป็น 2 ส่วน คือวงเงินเพิ่มทุนเดิมซึ่งมาจากงบประมาณของรัฐ และการเพิ่มทุนโดยใช้เงินจากกองทุนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือกองทุนเอสเอฟไอ

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อแก่กิจการรายใหญ่ของธนาคาร จากเดิมที่ธนาคารให้สินเชื่อได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท แก้ไขเป็นให้สินเชื่อได้ไม่เกิน 1 พันล้านบาท สำหรับลูกค้ารายเดิม และ500 ล้านบาท สำหรับลูกค้ารายใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนแผนงานการหาพันธมิตรร่วมทุน.. ที่มีการพูดถึงมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนผ่านมาเกือบ 2 ปี ยังไม่มีความคืบหน้า  เพราะนโยบายปรับเปลี่ยนไปมา กระทั่งล่าสุดแม้มีนักลงทุนแสดงความสนใจเสนอราคา และผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว 3 ราย แต่ก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ เพราะในช่วงแรกไม่ได้มีการตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน หรือเอฟเอ ซึ่งไม่แน่ว่าการจัดจ้างที่ปรึกษาทางการเงินต้องกินเวลาไปอีกนานเท่าใด เพราะต้องจัดจ้างตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่

กับเวลาที่เหลืออีกเพียง 5 เดือนของการทำหน้าที่ประธานบอร์ดไอแบงก์  แม้ “ชัยวัฒน์”เองจะไม่แน่ใจว่า จะดำเนินการหาพันธมิตรได้หรือไม่ แต่ในช่วงเวลา 5 เดือนนี้เจ้าตัวก็ประกาศว่า จะทำให้เต็มที่.. เต็มความสามารถ

 เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอล  ตราบใดที่กรรมการยังไม่เป่านกหวีด..ก็ต้องพยายามเต็มที่ แต่เมื่อใดที่กรรมการเป่านกหวีด .. ก็ต้องหยุดทันที!!