ปชช.ร่วมทำบุญส่งตายายสารทเดือนสิบ

ปชช.ร่วมทำบุญส่งตายายสารทเดือนสิบ

ทำบุญส่งตายายสารทเดือนสิบ ทำให้แต่ละวัดมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

จังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคใต้ที่นับถือศาสนาพุทธได้มีการทำบุญวันทำบุญวันสารทเดือนสิบ เป็นครั้งที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า “วันส่งตายาย” ซึ่งในแต่ละวัดทั้งจังหวัดจะมีพี่น้องประชาชนทุกครอบครัวนำอาหารคาวหวานที่บรรจุในปิ่นโต รวมทั้งขนมเดือนสิบ 5 อย่าง ได้แก่ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีดีซำ และขนมไขปลา มาวางหน้าวัดหลังทำบุญเสร็จแล้วเพื่อประกอบพิธีชิงเปรตให้กับดวงวิญญาณบาปที่ไม่สามารถเข้าวัดไปรับส่วนบุญได้
เช่นที่วัดโพธิ์ใหม่ ต.ท่าขนาน อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช มีประชาชนพร้อมครอบครัวไปทำบุญส่งตายายที่วัดอย่างเนืองแน่น และในขณะที่ทางโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งหลายหน่วยงานบางแห่งปิดทำการเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนไปร่วมญาติพี่น้องทำบุญกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และหลังจากพระฉันเพลเสร็จแล้ว ญาติพีน้องรวมทั้งเพื่อนฝูงจะร่วมทานข้าวพร้อมกัน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น

สำหรับงานบุญสารทเดือนสิบเป็นงานประเพณีที่เชื่อกันว่าในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เป็นวัน “รับตายาย” เชื่อว่าประตูยมโลกเปิดเพื่อปลดปล่อยดวงวิญญาณที่ตกอยู่ในนรกให้ขึ้นไปรับส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลานเป็นเวลา 15 วัน เมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เป็นวันสุดท้ายจะมีการทำบุญ “ส่งตายาย” หรือเป็นการเลี้ยงส่งตายยายที่จะต้องเดินทางกลับไปยังภพภูมิ แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือว่าเดือนสิบทุกปีเป็นวันกตัญญู ที่เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ชาวนครศรีธรรมราชและภาคใต้

ขณะที่วัดสุวรรณคูหา ม.2 ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา มีพุทธศาสนิกชนเข้าวัดเพื่อทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับ ไปแล้ว ในประเพณีวันสารทเดือนสิบ ของชาวไทยพุทธทางภาคใต้ โดยประชาชนส่วนใหญ่นำ ปิ่นโต ขนมเดือนสิบ อาทิเช่น ขนมต้ม ขนมเทียน ขนมท่อนใต้ ข้าวพอง ขนมลา ขนมบ้า
นอกจากนี้ยังมีการวางข้าวสารอาหารแห้ง อาหารคาวหวาน ขนมสารทเดือนสิบ รวมถึงเงินเหรียญและธนบัตร พร้อมเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับ ญาติ บรรพบุรุษ ใส่ร่วมกับสิ่งของต่างๆ เพื่อนำวางไว้ที่ลาน ชิงเปรต พบว่าในปีนี้มีผู้เข้าร่วมประเพณีวันสารทเดือนสิบนับพันคน

ทำให้บรรยากาศภายในวัดสุวรรณคูหา เต็มไปด้วยประชาชน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวภายในวัด และยังมีการอนุรักษ์ประเพณีแห่ช่อ หรือ แห่จาด ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับการแห่หมรับของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งถือว่าปีละครั้งที่มีงานบุญใหญ่แบบนี้ในภาคใต้ และถือเป็นวันรวมญาติอีกด้วย

สำหรับแห่ช่อนั้น ในอดีตนั้นชาวตำบลกระโสม เมื่อเริ่มเข้าสู่วันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ แต่ละหมู่ก็จะใช้ไม้ไผ่ทำเป็นราว ไปตั้งไว้ตามร้านค้าในชุมชน ให้ชาวบ้านได้ร่วมนำสิ่งของต่างๆทั้งสินค้าเกษตร สิ่งของอุปโภค บริโภค มาแขวนไว้ที่ราว พอถึงวันทำบุญใหญ่สารทเดือนสิบ แต่ละหมู่บ้านก็จะช่วยกันแบก และแห่ขบวน นำไปถวายให้วัด ปัจจุบันนับว่าหาดูได้ยากแล้ว