ไทยคมโอดเคลียร์ปัญหาดาวเทียมไม่คืบ

ไทยคมโอดเคลียร์ปัญหาดาวเทียมไม่คืบ

ไทยคมเผยความคืบหน้าหลังหารือกับดีอี ระบุเสนอโทเทิ่ลแพคเก็จผลตอบแทนเต็มรูปแบบให้กระทรวง หวังสางปัญหาดาวเทียมดวง 7 และ 8 โอดปัญหาที่เกิดเพราะทำตามกฎหมายกสทช.อยู่ในระบบใบอนุญาต แต่รัฐบาลกลับดึงกลัยไปสู่สัมปทาน

นายสุพจน์ ชินวีระพันธุ์ รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลยุทธ์องค์กร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ตลอดเวลา 25 ปีไทยคมได้ให้สนับสนุนและดำเนินการแสวงหาวงโคจรให้กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ได้มีการไฟลิ่งไปยังสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) รวมแล้ว 76 ไฟลิ่งใน 23 วงโคจร โดยปัจจุบันได้มีไฟลิ่งที่ยังคงมีสถานะอยู่ 26 ไฟลิ่งใน 7 วงโคจรได้แก่ 50.5,51,78.5,119.5,120,126 และ 142 องศาตะวันออก สำหรับดาวเทียมที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้มีไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ไทยคม 5 ไทยคม 6 ไทยคม 7 และไทยคม 8 โดยในดาวเทียม 3 ดวงแรกจะสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2564

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ไทยคมได้หารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในประเด็นการรักษาวงโคจรและปัญหาที่เกิดขึ้นที่มีเห็นไม่ตรงกันในตัวดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ซึ่งไทยคมยึดเอาตามพ.ร.บ.กสทช.ฉบับแก้ไขปี 2560 ในการประกอบกิจการแบบใบอนุญาต (ไลเซ่น) และดาวเทียมดวงดังกล่าวก็ยิงขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่ปี 2557 โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกสทช. ดังนั้น เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่กระทรวงดีอีเสนอไป กลับมีคำสั่งให้ไทยคม 7 และ 8 ไปอยู่ในระบบสัมปทาน ไทยคมยืนยันมาตลอดว่าไม่เห็นด้วย

เขา ระบุว่า เพื่อเป็นการหาทางออกร่วมกันและให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปอีกได้ ไทยคมนั้นได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบโทเทิ่ลแพคเก็จให้แก่กระทรวงดีอี ประกอบด้วย 1.หลังจากที่ไทยคม 4 5 และ 6 สิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงในปี 2564 ไทยคมจะเข้าเป็นผู้ใช้สิทธิบริหารทรัพย์สินต่อไป โดยยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้น ทั้งค่าใบอนุญาต ค่าประกอบกิจการ และจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่กระทรวงดีอี และ 2.ในข้อพิพาทของไทยคม 7 และ 8 นั้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจยังสามารถไปต่อไป ไทยคมจะจ่ายค่าใช่เช่าวงโคจรเพิ่มเติมให้กับกระทรวง และให้ทรานสปอนเดอร์เพื่อสำหรับให้กระทรวงดีอีนำไปใช้ในกิจการภาครัฐ

“ที่ผ่านมาเราคุยกับกระทรวงมาตลอด การหารือครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งเราก็ทำข้อเสนอผลประโยชน์เพิ่มไปให้กระทรวง เพราะอยากจะยุติปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด โดยหลังจากนี้กระทรวงจะมีการตั้งคณะกรรมการฯเจรจาผลตอบแทนเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันอีกทั้ง อย่างไรก็ดี ในความเห็นส่วนตัว ผมว่าเราให้ผลประโยชน์ที่มากที่สุดเท่าที่จะให้ได้แล้ว แม้จะไม่เท่าแบบเดิมที่อยูในสัมปทานที่้ต้องจ่ายปีละ 22% แต่เราก็ยินดีจะจ่ายแม้ว่าดาวเทียมจะอยู่ในระบบใบอนุญาต”

นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ซึ่งหากการเจรจาไม่สามารถสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้ บริษัทมีแผนสำรองไว้ ซึ่งจะต้องดูโอกาสทางธุรกิจ เช่น การไปหาดาวเทียมในประเทศอื่น เพื่อให้บริการ ซึ่งไทยคม และไทยคมยังมีบริการอย่างอื่นนอกเหนือจากการให้บริการดาวเทียม ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียม ที่ให้บริการบรอดแคสติ้ง และบริการบรอดแบนด์