ส่อง‘ธีมไอพีโอ’ปลายปี 60

ส่อง‘ธีมไอพีโอ’ปลายปี 60

ส่อง‘ธีมไอพีโอ’ปลายปี 60 อสังหา-วัสดุก่อสร้างระดมทุนคึก

เกือบ9 เดือนปี 2560 ที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดไอพีโอ มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 19 ก.ย. 2560 มีบริษัท (ไม่รวมกองทุน) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอไอ (mai) แล้ว 17 บริษัท และหากแบ่งเป็นช่วงเวลาครึ่งปีแรก และครึ่งปีหลัง จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าบรรยาากาศหุ้นไอพีโอในครึ่งปีหลังคึกคักกว่าครึ่งปีแรกมาก เห็นได้ชัดเจนจากความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในการเข้าซื้อขายวันแรก 

สำหรับไตรมาส 4 ปี 2560 นี้ ตลาดไอพีโอยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจ ทั้งสำหรับนักลงทุน และบริษัทที่จะเข้าระดมทุน โดยปัจจุบัน มีบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประมาณ 14 บริษัท ขณะที่ 3 บริษัทได้รับอนุมัติไฟลิ่งแล้ว และกำลังเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย บริษัท ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (SKN) ซึ่งอยู่ในหมวดวัสดุก่อสร้าง โดยบริษัทกำหนดราคาเสนอขายไอพีโอที่ 7.35 บาท เปิดจองวันที่ 15,18-20 ก.ย. และ เข้าซื้อขาย 26 ก.ย. 2560

บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) ดำเนินธุรกิจในหมดทรัพยากร กำหนดราคาเสนอขายไอพีโอที่ 7.70 บาท เปิดจองวันที่ 18-20 ก.ย. เข้าซื้อขายวันที่ 27ก.ย. 2560 และบริษัท โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง เข้าซื้อในหมวดการแพทย์ โดยบริษัทกำหนดราคาขายไอพีโอที่ 3.90 บาท เปิดจองวันที่ 20.22 ก.ย. และจะเข้าซื้อขายวันที่ 3 ต.ค.นี้ 

อสังหาฯจ่อเข้าตลาด5บริษัท

สำหรับหุ้นไอพีโอที่จะเข้าซื้อขายในปลายปีนี้และอาจต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า กรุงเทพธุรกิจทำการสำรวจ พบว่า ผู้ประกอบการกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มการแพทย์ เป็นกลุ่มธุรกิจที่เตรียมตัวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มากที่สุด โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย บริษัท เจ้าพระยามหานคร , บริษัท เชียงใหม่ริมดอย, บริษัท ฟลอยด์ , บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ ประเทศไทย และบริษัท ร่มโพธิ์ พร็อพเพอร์ตี้ ส่วนกลุ่มการแพทย์ ประกอบด้วย ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป และบริษัท โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง หรือ WPH 

โดยบริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด(มหาชน) ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โครงการภายใต้การดำเนินงานมีทั้งโครงกรบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม ทาวน์เฮ้าส์ และทาวน์โฮม  มีแผนเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวนไม่เกิน 250 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน 

บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้ นำไปใช้ขยายธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ

อย่างไรก็ตาม เจ้าพระยามหานคร เคยยื่นไฟลิ่งเพื่อขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 250 ล้านหุ้น และขอถอนไฟลิ่งล่าสุดเมื่อปี 2558 โดยก่อนหน้านี้มี บล.เอเซีย พลัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ฟลอยด์ระดมทุนสร้างศูนย์อบรม

บริษัท ฟลอยด์ จำกัด (มหาชน) FLOYD ดำเนินธุรกิจรับเหมาติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และงานวิศวกรรมระบบสาธารณูปโภคประกอบอาคาร มีแผนเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 90 ล้านหุ้น พาร์ 0.50 บาท และคาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ได้ภายในปี 2560 

วัตถุประสงค์การระดมทุน เพื่อ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนขยายกิจการเพื่อรองรับการเติบโตของกิจการ ในขณะที่เงินทุนอีกส่วนหนึ่งจะใช้ในการลงทุนก่อสร้างอาคารสำนักงานและศูนย์อบรม เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถของพนักงานในการให้บริการเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

ขณะที่บริษัท ร่มโพธิ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) TITLE ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย เน้นการพัฒนาโครงการพักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียมในจังหวัดภูเก็ต จะเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 120 ล้านหุ้น พาร์ 0.50 บาท แบ่งเป็นเสนอขายให้แก่ประชาชนจำนวนไม่ต่ำกว่า 112.80 ล้านหุ้น และจำนวน 7.20 ล้านหุ้น เสนอขายให้แก่กรรมการ ผู้บริหารและ/หรือพนักงาน บริษัทคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในช่วงปลายปี 2560

 ทีโอเอเพ้นท์เตรียมโรดโชว์

บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด TOA ได้รับอนุมัติให้เสนอขายหุ้นจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมีแผนเสนอขายหุ้นไอพีโอ และหุ้นสามัญเดิม จำนวนไม่เกิน 507.6 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัท ไม่เกิน 254.0 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม (บริษัท ไวแบรนท์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด) ไม่เกิน 253.6 ล้านหุ้น

คาดเปิดจองซื้อหุ้นไอพีโอและเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปีนี้ โดยมีแผนจะโรดโชว์ในวันที่ 21 ก.ย. 2560 

วัตถุประสงค์ระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาและปรับปรุงสิทธิภาพภายในบริษัทรวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เตรียมทยอยเปิดโรงงานใหม่จำนวน 3 แห่ง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในต่างประเทศในปี 2561 เพื่อมุ่งสู่ผู้นำตลาดสีในภูมิภาคอาเซียน

โบรกมองเสี่ยง‘อุปทานล้น’

ฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมว่า ความกังวลเรื่องอุปทานล้นตลาดยังคงกดดันภาวะตลาดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจโตแบบเนิบๆ และเงินเฟ้อก็ยังต่ำ แต่ฝ่ายมองว่าเป็นความกังวลที่เกินกว่าเหตุเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน เพราะแม้ว่า GDP ที่โตในระดับปานกลางจะทำให้แนวโน้มกำไรของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับกลางๆ เท่านั้น แต่หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ยังถือว่าน่าสนใจในหลายๆ ด้าน ทั้ง PER ที่ยังต่ำกว่า 10x และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงกว่า 5% 

นอกจากนี้ กำไรในครึ่งหลังปี2560  ยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอีกด้วย จากยอดขาย (presales) ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงยังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ Overweight