กสทช.จัดโฟกัสกรุ๊ปร่างฯเรียกคืนคลื่น

กสทช.จัดโฟกัสกรุ๊ปร่างฯเรียกคืนคลื่น

กสทช.เคาะ3แนวทางเรียกคืนคลื่น ระบุการนำมาจัดสรรใหม่ต้องเหมาะสมกับการใช้งานจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เบื้องต้นคาดว่าการทำร่างประกาศจะเสร็จสิ้นในเดือนพ.ย.นี้ โดยกระบวนการเรียกคืนคลื่นน่าจะเริ่มต้นในเดือนธ.ค.นี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (โฟกัส กรุ๊ป) ร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าหรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ว่า กสทช. หลักการของร่างประกาศฯได้กำหนดการสนับสนุนไว้ 3 รูปแบบคือ การทดแทน ,การชดใช้ หรือการจ่ายค่าตอบแทน โดยแล้วการเรียกคืนคลื่นความถี่ ก็ต่อเมื่อการสนับสนุนการเรียกคืนมีมูลค่ามากกว่าค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ และโครงข่ายในการเปลี่ยนแปลงความถี่ และค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ในอนาคต

ดังนั้น การเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ต้องเหมาะสมกับการใช้งานจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยกสทช. ได้กำหนดหลักการ ในการพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้ประโยชน์สูงสุด คือ การเรียกคืนคลื่นความถี่ ต้องคำนึงถึงหลักการความมีประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งกสทช.จะพิจารณาเรียกคืนคลื่นความถี่ก็ต่อเมื่อผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมของการเรียกคืนคลื่นความถี่สูงขึ้นเทียบกับการไม่เรียกคืน

ทั้งนี้ การเรียกคืนคลื่นความถี่ และการพิจารณาทดแทน ชดใช้และจ่ายค่าตอบแทน ต้องคำนึงถึงหลักการความเป็นธรรม ความสมเหตุสมผลและความโปร่งใสจึง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมโดยมีขั้นตอนในการพิจารณาอย่างโปร่งใสเปิดเผย และตรวจสอบได้ ดังนั้น กสทช.จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นดังกล่าว ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายสำคัญของประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณากำหนดการทดแทนชดใช้หรือจ่ายครับตอบแทน สำหรับผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ อาทิ ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง,ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา,ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด,ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ,ผู้แทนจากสำนักงบประมาณและผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

การเรียกคืนคลื่นความถี่ต้องคำนึงถึงสิทธิ์ของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณี การดูแลเรื่องความเป็นธรรมและผลกระทบของผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ทั้งในส่วนผู้ได้รับอนุญาตที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ตลอดถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนขึ้นความถี่

“กสทช.จะให้สถาบันการศึกษาประเมินมูลค่าคลื่น และแนวทางชดเชยเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้ตรงกับมูลค่าคลื่น จากนั้นจะตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อหาข้อสรุป ขั้นตอนทั้งหมดจะกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนสอดคล้องกับการประมูลคลื่นที่จะเกิดขึ้น ส่วนผลการโฟกัสกรุ๊ปนี้จะนำเข้าสู่อนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม จากนั้นจะเสนอบอร์ดให้ความเห็นชอบก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เบื้องต้นคาดว่าการทำร่างประกาศจะเสร็จสิ้นในเดือนพ.ย.นี้ โดยกระบวนการเรียกคืนคลื่นน่าจะเริ่มต้นในเดือนธ.ค.นี้” นายฐากร กล่าว