คลื่นกัดเซาะชายฝั่งบ้านหัวหินรุนแรงหนัก

คลื่นกัดเซาะชายฝั่งบ้านหัวหินรุนแรงหนัก

คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง อ.สิเกา จ.ตรัง รุนแรง ทำลายทางเท้า และกัดเซาะถึงพื้นปูนลานกีฬาเสียหาย วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาด่วน

วันที่ 19 ก.ย.60 ที่บริเวณหาดหัวหิน หมู่ที่ 6 ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นห่วงต่อสถานการณ์คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ได้เดินทางเข้าสำรวจความเสียหายบริเวณหาดหัวหิน ที่ขณะนี่ถูกคลื่นซัดกัดเซาะจนได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งห้องน้ำพังจมหายอยู่ในทะเล ศาลาพักผ่อนริมชายหาดที่ขณะนี้ยังมองเห็นซากรอวันจมหายลงไปในทะเล รวมทั้งตลอดแนวชายฝั่ง ระยะทางกว่า 250 เมตร ที่เดิมผืนดินยื่นลงไปในทะเลอีกประมาณ 20 เมตร แต่ขณะนี้ถูกคลื่นที่รุนแรงซัดกัดเซาะจนพังเสียหาย ต้นสนล้มระเนระนาด และรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนผืนดินหาย สิ่งก่อสร้างต่างๆ บางส่วนพังเสียหายลงไปในทะเล

ขณะที่สิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงมากที่สุด คือ ลานกีฬาเอนกประสงค์ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งดำเนินการป้องกัน เพราะตั้งแต่ปี 2559 – 2560 นี้ ถูกคลื่นซัดเข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 7 เมตร จนกัดเซาะถึงพื้นปูนซีเมนต์ของลานกีฬา ทางเดินเท้า และต้นสนอีกประมาณ 10 ต้น ที่ถึงคิวจ่อจะล้มต้นในอีกไม่ช้า โดยเจ้าของพื้นที่ คือ สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 (ตรัง) ไม่ได้เข้าไปดูสภาพปัญหา และหาทางป้องกันมาตั้งแต่ต้น

นายชิต เกิดดี อายุ 50 ปี ชาวบ้าน ต.บ่อหิน กล่าวว่า ชาวบ้านทุกคนเป็นห่วง และเสียดายลานกีฬาเอกนประสงค์ เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนด้วย แต่ขณะนี้ไม่มีใครเข้ามาท่องเที่ยว เพราะความเสียหายที่เกิดจากคลื่นกัดเซาะ อยากให้ทางจังหวัดเร่งหามาตรการป้องกัน ไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้ เพราะตนเองก็เห็นว่าเกินกว่าที่ ทาง อบต.บ่อหิน จะแก้ไขได้ เพราะต้องงบประมาณจำนวนมาก จึงอยากให้เร่งแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด

ด้านนายจอมรวย เกลี้ยงช่วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน และนายประดิษฐ์ ดวงดาว ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง ให้ข้อมูลว่า จากเดิมที่ชาวบ้านเคยร้องเรียนกับสื่อมวลชนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ถูกคลื่นซัดเสียหายเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ รวมในปี 2559 – 2560 นี้ ลึกเข้ามาแล้วประมาณ 7 เมตร โดยเฉลี่ยแต่ละปีผืนดินหายไปประมาณ 5 เมตร จนขณะนี้ทางเดินเท้าริมชายหาดหายไปหมดทั้งแถบ และลึกถึงพื้นปูนลานกีฬาแล้ว และต้นสนอีกกว่า 10 ต้น ก็ส่อจะล้มตาม

ส่วนปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาหรือทำการป้องกันยับยั้งได้อย่างรวดเร็วตามแผนที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเคยประกาศไว้คือ จะใช้งบยับยั้งการเกิดภัยพิบัติ ด้วยการนำหินขนาดใหญ่มาทิ้งตลอดแนว 250 เมตร ใช้งบประมาณจำนวน 2.7 ล้านบาท ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการระดับจังหวัด ประกอบกับต้องได้รับการอนุญาตสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 (ตรัง) ซึ่งที่ผ่านมา ไม่เคยเข้ามาดูแล และเมื่อเร็วๆนี้ที่ผ่านมา นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้สั่งการให้เข้าสำรวจแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าจะเร่งแก้ไขได้หรือไม่ ชาวบ้านในพื้นที่ และทาง อบต.รู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้