คาดการลงทุนในอีอีซีของรัฐเฉลี่ย3แสนลบ./ปี

คาดการลงทุนในอีอีซีของรัฐเฉลี่ย3แสนลบ./ปี

"หอการค้าไทย" คาดการลงทุนในอีอีซีของภาครัฐ เฉลี่ย 3 แสนล้านบาทต่อปี ชี้ภายใน 5 ปี รวมเม็ดเงินเอกชนจะกระตุ้นจีดีพีได้ 1-1.5% ต่อปี

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เพราะจะเป็นการสร้างโอกาสของประเทศเพิ่มมากขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ และการเพิ่มความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมหลักเดิม ทำให้มีการสร้างงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่จะใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ มาเชื่อมโยง กับประเทศในอาเซียน และภูมิภาคอื่นๆ พร้อมเตรียมผลักดันพัทยาให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองธุรกิจและท่องเที่ยวที่ทันสมัย รองรับการเชื่อมโยง EEC

ทั้งนี้ หอการค้าไทย ประเมินว่า การลงทุนที่เกิดขึ้นในอีอีซี ของภาครัฐ เฉลี่ย 3 แสนล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมกับการลงทุนต่างๆของภาคเอกชน จะสามารถเพิ่มตัวเลขเศรษฐกิจไทย ให้เพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 1.5 ต่อปี ซึ่งภาคเอกชน เริ่มตื่นตัว และพร้อมเข้าไปลงทุน โดยหอการค้าไทย จะได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เตรียมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ เพื่อสร้างบุคลากรรองรับการขยายตัวของเออีซีในอนาคต

ส่วนความกังวลของภาคเอกชนบางส่วนในหลายประเด็น เช่น การเตรียมความพร้อมของแรงงานทักษะ / และการทำงานเชิงรณาการกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น นั้น หอการค้าไทย จะจัดทีม ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน นำประเด็นต่างๆเข้าหา กับทีม อีอีซี โดยนายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น และให้ข้อเสนอแนะ รวมไปถึงช่วยประชาสัมพันธ์ดารขับเคลื่อน อีอีซีในอนาคต

ทั้งนี้ หลังจากนักญี่ปุ่น ได้เดินทางเยือนประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ได้แสดงความสนใจต่อการลงทุนใน อีอีซี เป็นอย่างมาก โดยนายโซจิ ซาคาอิ (Mr. Soji Sakai ) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ พบว่าร้อยละ 40 ของบริษัทสมาชิกแสดงความสนใจที่จะลงทุนในอีอีซี และเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งหากมีโครงการลงทุนที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟความเร็วสูง จะทำให้การตัดสินใจลงทุนมีมากขึ้น โดยต้องการให้รัฐบาลไทย เดินหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งเตรียมพร้อมผลิตบุคลากรให้เพียงพอรองรับอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาจำนวนมาก