จี้ดีเอสไอสอบ 'อุตตม-ชัยณรงค์' ฟอกเงิน

จี้ดีเอสไอสอบ 'อุตตม-ชัยณรงค์' ฟอกเงิน

"ทนายวันชัย" ร้องดีเอสไอ สอบ "อุตตม-ชัยณรงค์" ฟอกเงิน ฐานเป็นบอร์ดกรุงไทยร่วมอนุมัติสินเชื่อ 9,900 ล้านให้กลุ่มกฤษดามหานคร อ้างมติกคพ.ให้ดำเนินคดี 5 ผู้บริหาร

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายวันชัย บุนนาค ทนายความ เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอ เพื่อขอให้ดีเอสไอสอบสวนคดีฟอกเงินกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ในคดีฟอกเงินจากการทุจริตอนุมัติวงเงินสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับกลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร โดยระบุว่า ตนได้มายื่นหนังสือถึงดีเอสไอขอให้สอบสวนไม่น้อยกว่า 2-3 ครั้งแล้ว แต่คดีไม่มีความคืบหน้า จึงใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เข้ายื่นหนังสือถึงดีเอสไอ เนื่องจากนายอุตตม และนายชัยณรงค์ ร่วมเป็นคณะกรรมการที่อนุมัติสินเชื่อให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร แต่ยังไม่ถูกดำเนินคดีทั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาแล้วว่าเป็นการทุจริตอนุมัติเงินกู้ ดังนั้น กรรมการที่ร่วมลงชื่อทั้งหมดจึงต้องร่วมรับผิดในคดีอาญาด้วย โดยคดีนี้แม้การสอบสวนจะไม่พบความผิดดีเอสไอก็ต้องสอบสวนดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ควรตัดสินเองว่าจะเลือกดำเนินคดีกับใคร และไม่ดำเนินคดีกับใคร

"แม้จะไม่พบว่านายอุตตมได้ผลประโยชน์หรือได้รับเงินจากการอนุมัติเงินกู้หรือไม่ ดีเอสไอก็ต้องสอบสวน ตราบใดที่บุคคลทั้ง 2 ยังมีชีวิตอยู่จะต้องถูกสอบสวนดำเนินคดี รวมถึงธนาคารกรุงเทพซึ่งได้รับชำระหนี้จากกลุ่มกฤษดามหานคร เนื่องจากเงินที่นำมาชำระหนี้กู้มาจากธนาคารกรุงไทย นอกจากนี้ แม้นายอุตตมและนายชัยณรงค์จะเข้าเบิกความต่อศาลฎีกาฯ แต่จากการศึกษาคำพิพากษาผมคิดว่าศาลไม่เชื่อคำเบิกความของพยานทั้ง 2 ปากนี้ แต่เชื่อในการอนุมัติสินเชื่อของกรรมการทั้ง 5 คน จึงตัดสินว่ามีความผิด ดังนั้น ผู้ที่มีชื่ออนุมัติสินเชื่อต้องถูกดำเนินคดีฐานฟอกเงินด้วย"นายวันชัยกล่าว

ทั้งนี้ นายวันชัย ยังอ้างถึงมติคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) วันที่ 23 มี.ค.50 เพื่อพิจารณากรณีคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินคดีความผิดฟอกเงินกับผู้บริหารกรุงไทยทั้ง 5 คนที่กระทำผิดฐานทุจริตในกรณีที่ธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้นเทคโนโลยี อินดัลเทรียล พาร์ค จำกัด 9,900 ล้านบาท โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบของธนาคาร เป็นเหตุให้บริษัทโกลเด้นฯ นำเงินสินเชื่อไปใช้นอกวัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์ของกลุ่มกฤษดาและพวกพ้องจำนวน 3,500 ล้านบาท

ด้านพ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า เมื่อรับเรื่องแล้วจะส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป ซึ่งพนักงานสอบสวนจะพิจารณาว่าเรื่องที่ร้องเข้ามาเพิ่มเติมสอดคล้องกับเรื่องเดิม หรือต้องแยกเป็นอีกสำนวน ส่วนกรอบเวลาการพิจารณากฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนโดยเร็ว ขณะที่ดีเอสไอก็จะเร่งรัดและติดตามคดี หากมีประเด็นใดไม่ครบถ้วน พนักงานสอบสวนก็ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอยู่แล้ว