‘โกลคัล’ พาร์ทเนอร์ดีมีชัย กลยุทธ์โกอินเตอร์ ‘ทีทูพี’

‘โกลคัล’ พาร์ทเนอร์ดีมีชัย กลยุทธ์โกอินเตอร์ ‘ทีทูพี’

“ทีทูพี” (T2P) เป็นทีมแรกของ Global Expansion Track ซึ่ง “ดีแทค แอคเซอเลอเรท” เปิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้

โดยสตาร์ทอัพที่เข้าสู่รอบนี้จะได้รับความสนับสนุน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการตลาด ด้วยฐานลูกค้าในกลุ่มเทเลนอร์ 13 ประเทศที่มีประชากรกว่า 200 ล้านคน 2. การเข้าถึงพาร์ทเนอร์ระดับโลกซึ่งมีโปรแกรมที่นำไปสู่ยูนิคอร์นในอนาคต 3. แพ็คเกจต่างๆจากพันธมิตรเทคโนโลยี อาทิ Google, AWS, Microsoft, IBM และ Samsung และ 4. เงินลงทุนจากดีแทค (ซีรียส์เอ)

ทีทูพีมีความโดดเด่นอย่างไร? ในสายตาของวีซีที่ร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็น “เรืองโรจน์ (กระทิง) พูนผล” แห่ง 500 ตุ๊กตุ๊ก ตลอดจนผู้บริหารของ เจ เวนเจอร์,จันวานิชย์ และ ยูไอเอช พอสรุปได้ว่า

อันดับแรกเป็นเรื่องของ “ทีมงาน”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้และประสบการณ์ของผู้ร่วมก่อต้้งบริษัท ทีทูพี จำกัด นั่นคือ ทวีชัย ภูรีทิพย์ , ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์, จรัสพงศ์ โชติกวณิชย์ และ ภูวไนย ทรรทรานนท์

“โมเดลธุรกิจ” ของทีทูพีก็มีความน่าสนใจ เพราะทำทั้ง “บีทูบี” และ “บีทูซี”

ทีทูพี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 เพื่อให้บริการบัตรเติมเงินเพื่อทำธุรกรรมออนไลน์ เป็นช่องว่างทางการตลาดที่ทวีชัย ซึ่งอยู่ในแวดวงธุรกิจเกมมายาวนานมองเห็น และก็เริ่มต้นด้วยบีทูบี คือให้บริการการพัฒนาโซลูชั่นโปรแกรมสนับสนุนการตลาดสำหรับลูกค้าองค์กร

แต่เมื่อได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีมันนี่ ก็ขยับทำบีทูซี พัฒนาแอพ DeepPocket ที่ดาวน์โหลดผ่านมือถือทั้งระบบเอนดรอยด์และไอโอเอสเพื่อให้ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้าแทนเงินสด ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

"ตลาดเวลานี้แข่งกันดุเดือด ขณะที่เราเป็นรายเล็กและทำธุรกิจสองขา ดังนั้นฝั่งบีทูบีเราจะใช้วิธีปรับแพลตฟอร์มให้ยืดหยุ่นตรงกับความต้องการลูกค้า ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเราเป็นผู้เล่นรายเดียวในตลาดนี้เลย แต่บีทูซีมีผู้เล่นในตลาดเยอะ จะแข่งด้วยเงิน ด้วยมาร์เก็ตติ้งธรรมดาๆคงสู้รายใหญ่ไม่ได้ จึงต้องมุ่งนิชมาร์เก็ต เน้นในเรื่องอินโนเวชั่นสร้างความแตกต่าง"

ปัจจุบันทีทูพีเป็นผู้ให้บริการด้าน Loyalty และ Cash Card ที่มีผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านคน และให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรกว่า 1,500 ร้านค้าชั้นนำ ล่าสุดมีธุรกรรมทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มของทีทูพี T2Pไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาทในไตรมาสแรกที่ผ่านมา

อีกความโดดเด่นที่สำคัญ คือ “วิสัยทัศน์” ของผู้ร่วมก่อตั้งที่มองไกลไปตลาดโลกตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งมีสตาร์ทอัพไทยน้อยรายที่คิดอย่างนี้

"การเดินทางคงไม่ง่าย แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่เราต้องตั้งเป้าว่าจะไปก่อนเลย ไม่ใช่ขอทำตลาดไทยก่อนแล้วค่อยไป ข้อคิดนี้เกิดขึ้นในสมัยที่ผมยังเรียนหนังสือซึ่งตอนนั้นคิดว่าจะขอสอบเข้าสถาบันที่อยู่ระดับล่างๆในท้อบร้อย เพราะเกินกว่านั้นคงคงสอบไม่ได้ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งพูดว่าทำไมคิดแค่นี้ เพราะสอบเข้าที่ไหนก็ต้องจ่ายเงินค่าสอบพอๆกัน  ผมก็เลยได้เรียนที่เอ็มไอที และได้เจอเพื่อนๆไม่เช่นนั้นก็คงไม่ได้ทำทีทูพี "

ทวีชัยบอกว่า เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของทีทูพี ก็คือ การนำเอาเซอร์วิสไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา แต่ในโลกของสตาร์ทอัพเส้นชัยนี้ไม่ควรเนิ่นนานเป็นสิบปี ดังนั้นที่ตั้งใจไว้ก็คือการไปปักธงที่ประเทศนี้ให้ได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี

"ตลาดอเมริกามีความพร้อม ที่ผ่านมาเราโฟกัสตลาดที่ไม่มีบัญชีธนาคาร (Unbanked) แต่เรากำลังพัฒนาเซอร์วิสอื่นๆ ที่จะนำไปปรับใช้ได้ และที่อเมริกาก็ไม่ง่ายในแง่ของกฏหมาย เวลาขอไลเซ่นส์เราจะขอได้ทีละรัฐไม่ใช่ขอทีได้ทั้งประเทศ ดังนั้นถ้ามีพาร์ทเนอร์ที่ดีจะช่วยเราได้"

อย่างไรก็ดี ปลายปีนี้ ทีทูพี กำลังจะลอนซ์บริการที่เมียนมาร์ (พม่า) เป็นประเทศแรก จากนั้นก็จะรุกไปในประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่องกลยุทธ์การขยายตลาดไปต่างประเทศ ผู้ก่อตั้งทีทูพีเรียกว่า “โกลคัล” (Glocal)

"ถ้าไม่นับเรื่องเงินทุน เราต้องเข้าใจตลาดโลคัลก่อน เพราะมีหลายปัจจัยที่ไม่รู้ ต้องมีคนที่เข้าใจตลาดนั้นๆจริงๆมาช่วยทำให้เราทำได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จ ทีมงานของเราเองก็ต้องพร้อม การไปต่างประเทศ ต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ของแต่ละประเทศมาช่วย หนึ่งสิ่งสำคัญของฟินเทคก็คือเรื่องของกฏหมายและความรู้ในตลาด ถ้ามีพาร์ทเนอร์ที่ดีในประเทศนั้นๆ จะช่วยทำให้เราเติบโตได้ดี”

ทวีชัย บอกว่าที่เมียนมาร์ ทีทูพีโชคดีที่ได้ “ซิตี้มาร์ท โฮลดิ้ง” ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีกมาเป็นพาร์ทเนอร์

"ฐานลูกค้าเขาค่อนข้างกว้าง ความเสี่ยงเราจึงน้อยมากแทบจะไม่มี ถามว่ารู้จักเขาได้อย่างไร บังเอิญมีเพื่อนแนะนำ ก็เหมือนหลายๆคนที่พูด การทำธุรกิจต้องเก่งกับเฮง อย่างดีแทคเองก็ถือเป็นส่วนช่วยสำคัญจะทำให้เราขยายตัวไปในประเทศอื่นๆได้เร็วมากขึ้น ถ้ามีพาร์ทเนอร์ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง "

ถามถึงเงินทุนที่ระดมได้มาครั้งนี้ เขาบอกว่าหลักๆ จะนำเอามาใช้ในการขยายทีมงาน ..ซึ่งหาได้ยาก

"เวลานี้ทีมของเราเป็นคนไทยทั้งหมด โชคดีที่โคฟาวเดอร์ของเราอีกคนซึ่งจบเอ็มไอทีมาเหมือนกันเขาทำด้านเอ็นจีเนียริง และเคยมีประสบการณ์สตาร์ทอัพมาก่อน ทำให้เราได้เปรียบ แต่การจะหาคนมาช่วยทำงานและสู้ไปกับเราก็ยาก เราอยากขยายทีมได้เร็วๆ แต่ก็ต้องค่อยๆคัดคน บางทีพอรีครูทเข้ามาทำงานไม่ได้ก็เสียเวลาเรา และก็เสียเวลาเขาด้วย"

และทิ้งท้ายว่า สตาร์ทอัพเป็นอะไรที่น่าสนุก เป็นธุรกิจที่ทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ และถ้าทำได้ดีมีความสำเร็จ ที่สุดจะสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้วงกว้างได้

--------------

ธงเดิมสร้างยูนิคอร์น

“สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์” ผู้อำนวยการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท กล่าวว่าการเปิด Global Expansion Track ขึ้นมาก็เพราะต้องการผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวไปสู่ระดับโลก

“ธงของเรายังเหมือนเดิม มิชั่นของเรายังต้องการสร้างยูนิคอร์นสตาร์ทอัพไทย มันยังคงอยู่ และมองว่าทีทูพีจะเป็นสตาร์ทอัพไทยทีมแรกที่จะไปปักธงที่ตลาดต่างประเทศได้” 

แน่นอน ทีทูพี ไม่ได้เป็นทีมที่อยู่ในดีแทค แอคเซอเลอเรท สมโภชน์ยอมรับว่าหากจะรอให้ทีมที่มีอยู่เติบโตขึ้นไปเองอย่างเช่นเคลมดิหรือฟินโนมีนาก็คงใช้เวลาปั้นสองถึงสามปี ในรอบนี้จึงต้องชอทคัทเพื่อความรวดเร็ว

"อีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพในไทยตอนนี้เติบโตขึ้นกว่า 100 เท่า มีมูลค่าการลงทุน 236 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ตอัพในดีแทคแอคเซอเลอเรท ได้รับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง 70-75% นั่นหมายถึงธุรกิจที่สามารถเติบโตได้รับเงินลงทุนตั้งแต่ระดับซีดไปจนถึงซีรียส์เอ แต่การที่เราจะช่วยผลักดันให้อีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพไทยเติบโตไปอีกจากขั้นซีรียส์เอ ไปบี จนถึงซีได้นั้นเป็นความท้าทาย ซึ่งสตาร์ทอัพไทยมีน้อยกว่า 5% ที่เติบโตไปถึงระดับนี้ได้ และต้องการทรัพยากร กำลังเงิน ความสามารถในการจัดการอีกมากมาย"