Best 10 in BETONG : 10 ที่เก๋เที่ยวเบตง

Best 10 in BETONG : 10 ที่เก๋เที่ยวเบตง

เปลี่ยนความเชื่อที่เต็มไปด้วยความน่ากลัว ให้กลายเป็นความเก๋ไก๋ที่หาไม่ได้จากที่อื่น

“ไปยะลา!”

            คำอุทานและน้ำเสียงตกใจทำนองนี้แทบจะเป็นเรื่องปกติถ้าใครได้ลองบอกกับคนอื่นว่าจะไปในพื้นที่สีแดงอย่างจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็น ยะลา นราธิวาส หรือปัตตานี แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะข่าวคราวก็ออกมาชวนหวาดหวั่นตลอด

            แต่ใครจะรู้บ้างว่า อำเภอเบตง จังหวัดยะลาที่ใครๆ  ก็เชื่อว่าน่ากลัวจนตัวสั่น กลับไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มิหนำซ้ำยังเต็มไปด้วยที่เที่ยวเท่ๆ เก๋ๆ ซึ่งเราคัดมาเบื้องต้นให้ได้ลองไปเที่ยวกัน

  • เขื่อนบางลาง

            จากการเข้ามาพัฒนาลุ่มน้ำปัตตานี โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จนเกิดเป็นโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง จนได้เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของภาคใต้ นอกจากประโยชน์เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและการกักเก็บน้ำ ผลพลอยได้ที่ตามมาคือทัศนียภาพเมื่อมองจากเหนือเขื่อนไปคือเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ที่มีกรอบเป็นธรรมชาติเขียวขจี

            ซึ่งจุดที่น่าจะสวยที่สุดสำหรับชมวิวเขื่อนนี้ คือ สะพานข้ามเขื่อนบางลาง บริเวณบ้านคอกช้างกับบ้านกระป๋อง ต.แม่หวาด อ.ธารโต ที่แม้จะผ่านความคดเคี้ยวของถนนจากอำเภอเมืองยะลาสู่อำเภอเบตงมาจนวิงเวียนสักแค่ไหน แต่เมื่อมาถึงจุดนี้เป็นต้องจอดแวะชมวิวเขื่อนบางลางจนลืมเมารถเลยทีเดียว ในวันที่ฟ้าใส แดดจัด ผืนน้ำจะสะท้อนเงาภูเขาและท้องฟ้า แค่กดชัตเตอร์ไปอย่างง่ายๆ ก็ได้ภาพสวยแล้ว

  • อุโมงค์ปิยะมิตร

            ชื่อของอำเภอเบตงถูกจารึกในประวัติศาสตร์เสมอ และที่ อุโมงค์ปิยะมิตร คือบทบันทึกหนึ่ง...

            อุโมงค์นี้มีอีกชื่อเรียกว่า อุโมงค์เบตง เป็นอุโมงค์ดินที่อดีตขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) สร้างขึ้นเป็นฐานปฏิบัติการต่อสู้ทางการเมือง ใช้เป็นฐานหลบซ่อนตัวและเป็นแหล่งสะสมเสบียงของกลุ่ม จคม. แต่ต่อมาหลังจากถูกปราบปรามและการต่อสู้สิ้นสุดลงก็ได้กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย อุโมงค์ตั้งอยู่ในพื้นที่ของบ้านปิยะมิตร ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง           ปัจจุบันห้องหับและร่องรอยที่พวกเขาทิ้งไว้ยังคงถูกจารึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์จากการรำลึกถึงอดีตแห่งการต่อสู้แสนเจ็บปวด เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านป่าไปจะเจออุโมงค์ ซึ่งแบ่งออกเป็นห้องหรือช่องต่างๆ ตามการใช้งาน เช่น เตาสำหรับทำอาหาร ห้องนอน ห้องเก็บเสบียง ภายในอุโมงค์นั้นเย็นสบายทีเดียว

            เมื่อออกไปนอกอุโมงค์ ผืนป่ายังช่วยให้รู้สึกว่าอยากดื่มด่ำกับที่นี่ต่อ ทั้งอากาศดีและที่สำคัญคือไฮไลท์ ‘ต้นไม้พันปี’ (แต่ป้ายเขียนว่า Millennium Tree) ขนาดมหึมา พอถามเจ้าหน้าที่ที่พาเข้าชมก็ยังตอบไม่ได้ว่าขนาดกี่คนโอบ

  • สวนหมื่นบุปผา

            แทบจะทำให้หลงคิดไปว่ากำลังอยู่เมืองจีนหรือจังหวัดทางภาคเหนือ เพราะไม่คิดว่าที่ใต้สุดแดนสยามอย่างเบตงจะมีสวนดอกไม้เมืองหนาวอยู่ด้วย

            สวนหมื่นบุปผา หรือ สวนดอกไม้เมืองหนาว ตั้งอยู่ในหมู่บ้านปิยะมิตร 2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง ก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ที่นี่เป็นโครงการไม้ดอกเมืองหนาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงอักษรจีนพระราชทานนามสวนแห่งนี้ว่า ‘ว่านฮัวหยวน’ หรือแปลเป็นไทยว่า สวนหมื่นบุปผา สวนแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 35 ไร่ ความสูงประมาณ 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิเฉลี่ย 18 องศาเซลเซียส มีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย ความงามของไม้ดอกหลากสีสันดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและมาเลเซียให้เข้ามาเยี่ยมชม นอกจากนี้ไม้ดอกของที่นี่ยังพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งออกแทนการปลูกยางพาราตามแนวพระราชดำริ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

  • บ่อน้ำร้อนเบตง

            น่าอิจฉาคนเบตง...แม้พื้นที่ไม่ใหญ่ไม่โต แต่กลับมีทรัพยากรธรรมชาติครบครัน แม้กระทั่งบ่อน้ำร้อนให้นอนแช่เพื่อสุขภาพก็ยังมี ซึ่ง บ่อน้ำร้อนเบตง นี้เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ มากมาย โดยอุณหภูมิของน้ำนั้นอยู่ที่ประมาณ 80 องศาเซลเซียส และบริเวณที่น้ำเดือดนี้ต้มไข่ไก่จนสุกได้ภายใน 7 นาทีเท่านั้น

            ...อย่าเพิ่งตกใจเพราะไม่ใช่จุดที่จะไปนอนแช่ได้

            ปัจจุบันที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิดหน้าชูตาของจังหวัด โดยสร้างสระน้ำขนาดใหญ่สำหรับกักน้ำจากน้ำพุร้อนเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ใช้อาบหรือแช่ แต่ละโซนของพื้นที่ออกแบบอย่างได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ ทั้งบ่อน้ำร้อนบ่อใหญ่ บ่อแช่น้ำร้อนใหม่ อาคารธาราบำบัด แม้กระทั่งคนที่ต้องการค้างคืนก็มีอาคารที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ

  • ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง

            ถ้าใครเป็นสายทะเลหมอก บอกเลยว่าที่นี่ห้ามพลาด เพราะตั้งแต่ชมทะเลหมอกมาทั่วสารทิศ ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง คือหนึ่งในหลายทะเลหมอกที่ดีที่สุดในประเทศไทย นี่ไม่ใช่คำชมเกินจริง แต่ถ้าวันที่ฟ้าเป็นใจ กลางคืนมีฝนพรำเล็กน้อยพอชุ่มชื้น และฟ้าเปิดในวันใหม่ รับรองความอลังการของมวลหมอกที่ลอยแน่นเสมือนทะเล

            จุดชมทะเลหมอกแห่งนี้อยู่ในเขตพื้นที่ของเขาไมโครเวฟ หรือ ยอดเขากุนุงซิลิปัต ที่ความสูง 2,038 ฟุต จากบริเวณยอดเขาชมทะเลหมอกในยามเช้าได้ถึงปีละ 8 เดือน ปัจจุบันทะเลหมอกอัยเยอร์เวงได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของเบตง มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียก็มากันแน่นขนัด ทำให้การจราจรบนทางขึ้น-ลงจุดชมวิวค่อนข้างหนาแน่นทีเดียว

            แม้ที่นี่จะเจียมเนื้อเจียมตัวว่าเป็นทะเลหมอกที่สวยที่สุดในภาคใต้ แต่กล่าวอย่างตรงไปตรงมา “อัยเยอร์เวงสวยอันดับต้นๆ ของประเทศไทย”

  • ไก่เบตง

            ไม่ใช่ที่เที่ยว แต่นี่คือสุดยอดของดีเมืองเบตง ที่แขกไปใครมาถ้าไม่ได้ลองลิ้มชิมรส ไก่เบตง แล้วละก็ ตราหน้าได้เลยว่ามาไม่ถึง (ยกเว้นคนที่ไม่กินไก่นะจ๊ะ)

            ไก่เบตงเป็นไก่พันธุ์พื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์ คือหงอนสีแดงสด ขนสีเหลืองทอง บั้นท้ายตัด คอและขาแข็งแรง ชอบหากินตามธรรมชาติ เปรียบได้กับรากเหง้าของชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ลงหลักปักฐานที่เบตงจนถึงทุกวันนี้

            ไก่เบตงเป็นไก่พื้นเมืองของมณฑลกวางไสของจีน กระทั่งเมื่อชาวจีนอพยพมาที่นี่จึงได้นำไก่พันธุ์นี้มาเลี้ยงและแพร่หลายจวบจนปัจจุบัน ซึ่งความอร่อยอันเป็นเอกลักษณ์ของไก่เบตงคือมีเนื้อเหลือง นุ่มลิ้น ไขมันน้อย หนังเคี้ยวกรุบ นำไปประกอบอาหารเมนูได้หลากหลาย แต่ที่ขึ้นชื่อลือชา คือ ไก่สับเบตง, ข้าวมันไก่เบตง, ไก่เบตงตุ๋นยาจีน, ไก่เบตงคั่วเค็ม

            แหม...พิมพ์ไปน้ำลายสอไป

  • อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์

            กลายเป็นอีกจุดแลนด์มาร์คของเมืองเบตงไปแล้ว สำหรับ อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนอมฤทธิ์ ตัดกับถนนภักดีดำรงผ่านสวนสาธารณะออกสู่ถนน บริเวณหน้าสวนนก เชื่อมต่อกับถนนมงคลประจักษ์ ทะลุไปสู่ชุมชนเมืองใหม่หมู่บ้านแกรนด์วิว และเชื่อมต่อกับถนนอัยเยอร์เบอร์จัง ไปสู่ชุมชนธารน้ำทิพย์อีกทอดหนึ่ง

            เป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของเมืองไทย ที่ขุดทอดโค้งให้รถวิ่งไป-มาก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาวตลอดอุโมงค์ ประมาณ 273 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร ผิวจราจรคู่ กว้าง 7 เมตร ทางเท้าเดินกว้างข้างละ 1 เมตร ความเร็วรถแล่นได้ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2544 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นเงิน 182,000,000 บาท เป็นทั้งช่องทางการสัญจร และเป็นจุดที่งดงามทั้งกลางวันและกลางคืน

  • พิพิธภัณฑ์เบตง

            ว่ากันว่าถ้าอยากรู้จักเมืองใด ให้เข้าพิพิธภัณฑ์ของเมืองนั้น แม้จะแวะไปที่ต่างๆ ทั่วเมืองเบตงแล้ว ทว่าการจะลงลึกถึงแก่นนิยามความเป็นเบตงคงต้องอาศัยข้อมูลที่บรรจุอยู่ในอาคารทรงสวยหลังนี้

            พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง ตั้งอยู่บนนถนนรัตนกิจ ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอเบตง ที่ชั้นหนึ่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ โบราณวัตถุ อาทิ ถ้วยชามเครื่องเคลือบ โต๊ะ ตู้ เตียง โบราณ ตะเกียงเก่า เรือสำเภาจำลอง กี่ทอผ้า อุปกรณ์ปั่นฝ้าย ส่วนชั้นสองจัดแสดงภาพเก่าเมืองเบตง และข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจในเมืองนี้ พิพิธภัณฑ์เมืองเบตงยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นจุดชมวิวชั้นดีที่เมื่อขึ้นไปชั้นบนสุดมองลงมาจะเห็นตัวเมืองเบตงได้อย่างชัดเจน

            ที่นี่นับเป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวเบตงเป็นอย่างยิ่งที่อาคารแห่งนี้เทศบาลได้ก่อสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปีพ.ศ.2549

  • วัดพุทธาธิวาส

            วัดนี้เป็นวัดที่ทั้งสำคัญและสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของเบตง เพราะทำเลที่ตั้งโดดเด่นอยู่บนเนินเขา มีพระธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศตั้งตระหง่านอวดโฉมศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ โดยในองค์มหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

            นอกจากนี้ยังมีพระพุทธธรรมกายมงคลประยุรเกศานนท์สุพพิธานพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย, วิหารหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และวิหารพระครูพิศิษฐ์อรรถการ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยก วัดพุทธาธิวาส เป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2546

  • OK เมืองเบตง

            อย่าเพิ่งงงที่สถานที่เจ๋งๆ ของเบตง เหตุใดคือเมืองเบตงเสียเอง ก็เพราะนอกจากธรรมชาติที่อยู่รอบนอกตัวเมืองแล้ว ตัวเมืองนี่แหละคือแหล่งรวมของดีไว้มากมาย ที่สำคัญคือรูปแบบผังเมืองที่กำลังดี ก็น่าเดินเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตคนท้องถิ่นจริงๆ

            ชื่อเดิมของอำเภอเบตงคือ ยะรม เป็นภาษามลายูมีความหมายว่า ‘เข็มเย็บผ้า’ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2473 อำเภอยะรมได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอเบตงในปัจจุบัน ซึ่งคำว่า เบตง มาจากภาษามลายู ว่า ‘Buluh Betong’ หมายถึงไม้ไผ่ขนาดใหญ่ หรือ ไผ่ตง ซึ่งมีอยู่มากในท้องถิ่น ต้นไผ่ตงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองเบตง

            อำเภอเบตงอยู่ในแนวเทือกเขาสันการาคีรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,328 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 1,220 กิโลเมตร

          ...แต่ระยะทางก็ไม่เป็นอุปสรรคให้ไปค้นหาสิ่งที่ขาดหายจากการรับรู้ ที่ ‘เบตง’