‘ฟลาวแป้งมันไซยาไนด์ต่ำ’ จากแล็บสู่ตลาดเบเกอรี

‘ฟลาวแป้งมันไซยาไนด์ต่ำ’ จากแล็บสู่ตลาดเบเกอรี

ซาว่า (SAVA) แป้งมันอเนกประสงค์ไร้สารก่อภูมิแพ้ ปริมาณไซยาไนด์ต่ำและเส้นใยสูง ผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเริ่มต้นจากแล็บไบโอเทคร่วมกับเกษตรศาสตร์ หลังจากค้นคว้าวิจัยนาน 5 ปีจึงส่งต่อองค์ความรู้ให้ "ชอไชยวัฒน์” โรงงานแป้งมันสำปะหลังนำไปพัฒนาต่อยอด

ซาว่า (SAVA) แป้งมันอเนกประสงค์ไร้สารก่อภูมิแพ้ ปริมาณไซยาไนด์ต่ำและเส้นใยสูง ผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเริ่มต้นจากแล็บไบโอเทคร่วมกับเกษตรศาสตร์ หลังจากค้นคว้าวิจัยนาน 5 ปีจึงส่งต่อองค์ความรู้ให้ "ชอไชยวัฒน์” โรงงานแป้งมันสำปะหลังนำไปพัฒนาต่อยอดสู่่ผลิตภัณฑ์สู่ตลาด หวังทดแทนแป้งสาลี 30-100% ในผลิตภัณฑ์เบเกอรีและขนมขบเคี้ยวต่างๆ

“การจะนำไปใช้ทดแทนแป้งสาลีในสูตรเบเกอรีนั้นจำเป็นต้องปรับให้เหมาะสม จึงมีความร่วมมือกับเชฟทำการพัฒนา 12 สูตรนำร่อง อาทิ เค้ก บราวนี่ วาฟเฟิล ฯลฯ เป็นตัวอย่างให้กับผู้บริโภคผ่านเฟซบุ๊ค savaflour และเว็บไซต์ http://savaflour.com ทั้งยังเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในแง่การให้ความรู้เรื่องฟลาวแป้งมัน สูตรอาหารและเป็นช่องทางการซื้อขายอีกด้วย” พันธวุฒ กาญจนประภาส ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ชอไชยวัฒน์อุตสาหกรรม จำกัด กล่าว

เพิ่มค่ามันสำปะหลัง

โดยทั่วไปแล้ว แป้งมันปลอดกลูเตนหรือสารก่อภูมิแพ้มีคำเฉพาะเรียกว่า ฟลาวมันสำปะหลัง ทั้งยังมีปริมาณเส้นใยและโปรตีนสูงกว่าแป้งมันสําปะหลัง ผลิตจากหัวมันชนิดหวานซึ่งมีไซยาไนด์ต่ำ แต่เป็นพันธุ์ที่ไม่นิยมปลูกและมีราคาแพง ส่งผลให้ราคาฟลาวแป้งมันสูงตามไปด้วย

ขณะที่เทรนด์รักสุขภาพและอาหารปลอดภัย ส่งผลให้ความต้องการฟลาวแป้งมันเพิ่มขึ้น ทางศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.) จึงร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิจัยการใช้มันสำปะหลังชนิดขมที่มีไซยาไนด์สูงอาจเป็นพิษต่อผู้บริโภค ซึ่งปลูกกันทั่วไปมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อให้ราคาฟลาวแป้งถูกลง และเพิ่มมูลค่าให้กับมันสำปะหลังชนิดขม

สุนีย์ โชตินีรนาท นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังและแป้ง ศูนย์ไบโอเทค กล่าวว่า ทีมงานได้ศึกษาวิจัยกว่า 5 ปีกระทั่งประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังในระดับอุตสาหกรรม โดยใช้เครื่องจักรกลที่ประยุกต์มาจากการผลิตแป้งมัน จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตและให้ปริมาณที่มากเพียงพอต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ปริมาณไซยาไนด์ในฟลาวแป้งมันอยู่ในระดับต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักแห้ง ตามที่องค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (WHO/FAO) ระบุไว้ในมาตรฐานโคเด็กซ์ ต่อมาภาคเอกชนสนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว และได้ร่วมวิจัยขยายสเกลการผลิตในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาสูตรเบเกอรีที่ใช้ฟลาวแป้งมันทดแทนแป้งสาลีอีกด้วย

พันธวุฒ กาญจนประภาส ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา ชอไชยวัฒน์อุตสาหกรรม กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับแป้งมันนานกว่า 60 ปี สังเกตเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมเบเกอรีเฉลี่ยปีละกว่า 6.5% ขณะที่ไทยต้องนำเข้าฟลาวสาลีเพื่อนำมาทำเบเกอรี ประกอบกับปัญหาการแพ้ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี (แพ้กลูเตน) มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่จะผลักดันให้ฟลาวแป้งมันเป็นที่รู้จัก เพื่อลดการนำเข้าฟลาวแป้งสาลี

ซาว่า (SAVA) แป้งมันอเนกประสงค์ไร้กลูเตน เจ้าแรกในประเทศไทยจึงเกิดขึ้น นอกจากจะผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรมแล้ว ยังสามารถควบคุมความหนืดให้มีคุณสมบัติที่สม่ำเสมอได้แม้ว่าวัตถุดิบหัวมันเริ่มต้นจะมาจากพันธุ์ที่แตกต่างกัน

นวัตกรรมไทยบุกตลาดโลก

“กลุ่มลูกค้านำร่องของแป้งซาว่าคือ คุณแม่ที่มีลูกแพ้แป้งสาลี ต่อไปจะมุ่งกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยเริ่มติดต่อและส่งตัวอย่างให้ร้านสุขภาพต่างๆ อย่างไรก็ตาม ลูกค้าของเรายังเป็นกลุ่มเฉพาะที่มีขนาดเล็ก จึงต้องมองตลาดต่างประเทศควบคู่ไปด้วย โดยส่งตัวอย่างสินค้าไปทดลองตลาดในหลายประเทศ และยังอยู่ระหว่างเจรจากับเยอรมนีที่ให้ความสนใจมาก"

ปัจจุบันโรงงานสามารถผลิตแป้งซาว่า 16 ตันต่อเดือน มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตให้ได้ 100 ตันต่อวัน เพื่อตอบความต้องการของตลาด โดยราคาแป้งซาว่าประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถูกกว่าแป้งปราศจากกลูเตนในท้องตลาดที่ราคา 250-500 บาทต่อกิโลกรัม

"หากมีออเดอร์จากหลายประเทศก็จะสามารถสร้างยอดขายจำนวนมากได้ สอดรับกับการขยายโรงงานผลิตไปที่นครราชสีมาที่จะผลิตทั้งแป้งมันและฟลาวแป้งมัน” พันธวุฒ กล่าวและว่า ฟลาวแป้งมันนับเป็นนวัตกรรมไทยที่เพิ่มมูลค่าให้มันสำปะหลัง ลดปัญหาหัวมันล้นตลาดและราคาตกต่ำ รวมถึงเป็นการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบของไทยอีกด้วย