ชาวผาบ่องเลิกคุยกฟผ. ล้มโครงการไฟฟ้าสมาร์ทกริด700ล้าน

ชาวผาบ่องเลิกคุยกฟผ. ล้มโครงการไฟฟ้าสมาร์ทกริด700ล้าน

วงแตก! การไฟฟ้าฯกับชุมชนผาบ่อง500คน นัดเจรจาตั้งโรงไฟฟ้าสมาร์ทกริด700ล้านในชุมชน ทั้งสองฝ่ายประทะคารมในที่ประชุม ไม่ถึง 30 นาที ชาวบ้านไม่พอใจ ลุกออกจากที่ประชุมล้มกระดานเจรจา

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 17 กันยายน ว่าที่ พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นัดชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ ผาบ่องเหนือ , ผาบ่องใต้ ต.ผาบ่อง กว่า 500 คน นำโดย นายอมร ศรีตระกูล กำนันตำบลผาบ่อง ที่วัดผาบ่องเหนือ ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเจรจาทำความเข้าใจกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะเข้ามาทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสมาร์ทกริดติดกับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ซึ่งอยู่ในชุมชนบ้านผาบ่อง

เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เข้ามาทำการกว้านซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่นาของประชาชน และทำการถมที่จนแล้วเสร็จและจะทำการปักเสากั้นเขตแนวรั้วเพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสมาร์ทกริดซึ่งเกิดความขัดแย้งระหว่างการไฟฟ้ากับชุมชนมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี และเกิดความแตกแยก แตกความสามัคคีกันระหว่างประชุมชนทั้งสองหมู่บ้าน โดยชาวบ้านให้การไฟฟ้ายุติการก่อสร้าง แต่การไฟฟ้าก็ยังดำเนินการต่อ นอกจากนี้นายอมร ศรีตระกูล กำนันตำบลผาบ่อง ยังถูกกลุ่มบุคคลร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เข้าตรวจสอบทรัพย์สิน และถูกข่มขู่ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวอีกด้วย ยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกภายในชุมชนมากขึ้น

ก่อนที่จะมีการพูดคุยเจรจากันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับประชาชนในชุมชนบ้านผาบ่อง นายอมร ศรีตระกูล กำนันตำบลผาบ่องและประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ได้ขอพูดความรู้สึกในใจต่อหน้ารองผู้ว่าการการไฟฟ้าแห่งประเทศไทยและประชาชนในชุมชนว่า พื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าสมาร์ทกริด เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติไม่ต้องการให้เกิดปัญหามวลพิษ การเข้ามาก่อสร้างโรงไฟฟ้าสมาร์ทกริด นอกจากจะทำให้เกิดการแตกแยกของคนในชุมชนแล้ว ตนได้รับผลกระทบมากมาย ทั้งถูกประชาชนกล่าวหาว่าไปรับเงินจากการไฟฟ้าจึงเงียบไม่ร่วมต่อต้านกับชุมชนบ้าง และยังถูกข่มขู่จากกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ให้ต่อต้านการก่อสร้าง ตนขอพูดต่อหน้าทุกคนว่า ตนไม่เคยไปรับสินบนจากหน่วยงานใด

“ตลอดเวลาที่เป็นกำนัน ไม่เคยมีความขัดแย้งกับส่วนราชการ ประชาชน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีปัญหากับการไฟฟ้าเพียงหน่วยงานเดียว หากผมและครอบครัวเป็นอะไรไปขอให้ประชาชนในชุมชนรับรู้ไว้ และผมจะไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานด้วย เพราะการไฟฟ้าจะเข้ามาทำการก่อสร้างไม่เคยมานั่งพูดคุยกับประชนในชุมชน ไม่เคยมาทำประชาคม จึงเกิดการทะเลาะกันของคนในชุมชน และจะมาบอกว่าผมต่อต้านการก่อสร้าง” นายอมร กล่าว

จากนั้นวงเจรจาก็ได้เริ่มขึ้น โดย ว่าที่ พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงถึงที่มาที่ไปและผลดีของการมีโรงไฟฟ้าสมาร์ทกริดจะทำให้ไฟฟ้าไม่ดับหรือดับน้อยลง และทำการก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมให้ประชาชนในชุมชนนำศิลปวัฒนธรรมมาจัดแสดงภายในโรงไฟฟ้าด้วย และได้ให้อาจารย์ซึ่งเป็นนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำความเข้าใจถึงผลดีผลเสีย

อย่างไรก็ดี การพูดคุยเจรจาของทั้งสองฝ่ายต่างสลับกันพูดทั้งการไฟฟ้าชาวบ้านโต้กันไปโต้กันมา โดยชาวบ้านบอกว่าหากมีโรงไฟฟ้าสมาร์ทกริด ซึ่งจะต้องใช้แบตเตอรี่จำนวนมากเกรงจะเกิดผลกระทบต่อชุมชน และปัญหาตามมาอีกมากหมาย ชาวบ้านหลายคนไม่พอใจในการชี้แจงของการไฟฟ้า ไม่ยินยอมให้สร้างโรงไฟฟ้าสมาร์ทกริดในพื้นที่โดยเด็ดขาดพร้อมกับพากันลุกออกจากที่ประชุมกลับบ้านใครบ้านมันไม่ยอมเจรจาพูดคุยใด ๆทั้งสิ้น

ว่าที่พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าแม้การพูดคุยกับชุมชนจะล้มเหลว ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ยังขอยืนยันว่าจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป เพื่อมุ่งหวังประโยชน์ของประชาชนชาวแม่ฮ่องสอนทุกคน ส่วนประชาชนเกรงว่าจะมีผลกระทบต่าง ๆ นั้นทางการไฟฟ้าก็จะพยายามหาทางพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนให้มากขึ้น โดยชาวบ้านอยากให้การไฟฟ้ายุติโครงการ เบื้องต้นการถมที่ก็คงจะยุติไว้ก่อน

ส่วนการก่อสร้างก็จะพูดคุยหาเหตุผลกันก่อนเพราะโครงการเป็นของรัฐบาล ประโยชน์ก็ตกอยู่กับชาวแม่ฮ่องสอน ยอมรับว่าที่ผ่านมาการไฟฟ้าขาดการชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชน เราต้องกลับมาทบทวนวิธีการสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น และขอยืนยันว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่เคยไม่ข่มขู่หรือให้สินบนให้เงินกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เพื่อเข้ามาสร้างโรงไฟฟ้าจนทำให้เกิดความไม่เข้าใจของคนในชุมชน เมื่อการเจรจาล้มเหลวเราต้องเคารพความคิดเห็นของประชาชน ก็จะพูดคุยต่อไป เพราะโครงการนี้ต้องใช้เงินในการก่อสร้างมากถึง 700 ล้านบาท

นายอมร ศรีตระกูล กล่าวว่า ชาวบ้านไม่อยากให้มาสร้างโรงไฟฟ้าในหมู่บ้าน เราก็ต้องเคารพสิทธิของชุมชน ปัญหาที่เกิดขึ้นจนเกิดความไม่พอใจของชาวบ้านมาจาก ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มาขอสร้างโรงไฟฟ้าดีเซลและพลังงานแสงอาทิตย์ และบอกว่าเมื่อสร้างเสร็จไฟจะไม่ดับ และจะนำแพทย์พยาบาลมาคอยดูแลรักษาประชาชนในชุมชนหากเกิดผลกระทบ

หลังจากสร้างเสร็จมีหมอมาคอยดูแลแค่ปีเดียวก็หายไปเลย และไฟฟ้าก็ยังดับเหมือนเดิม และจะมาขอสร้างอีกและจะหมอมารักษาพยาบาลให้ชาวบ้านไม่ยอมรับเพราะเรามีโรงพยาบาลแล้ว เวลาเราต้องการก็ไม่มา พอเราไม่ต้องการจะเอาหมอมาให้ ชาวบ้านบอกว่าเราจะประชุมกับการไฟฟ้าครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และจะไม่ร่วมประชุมอีก หมู่บ้านอื่นมีอีกมากมายทำไมไม่ไปก่อสร้าง เพราะอะไรจะมาเอาในหมู่บ้านผาบ่อง ซึ่งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ตนไม่เคยต่อต้านแม้การพูดคุยครั้งนี้จะล้มเหลว แต่ก็ยังจะมีโอกาสที่การไฟฟ้าจะเข้ามาพูดคุยกับกรรมการหมู่บ้านกับชาวบ้านได้อีก