“ซื่อสัตย์-สุจริต” สูตรเคลื่อนธุรกิจ“เคจีซี”

“ซื่อสัตย์-สุจริต” สูตรเคลื่อนธุรกิจ“เคจีซี”

เชื่อว่าของปลอมซื้อกันได้ แต่ของแท้ยังไงก็คือของแท้ ประโยคคมสะท้อนการขับเคลื่อนธุรกิจของ “ตง ธีระนุสรณ์กิจ” แม่ทัพ เคจีซี ผู้นำเข้าและเจ้าของแบรนด์สินค้าที่เสิร์ฟผู้บริโภคบนโต๊ะอาหาร ผู้ยึดมั่นการทำงานบนความถูกต้อง

ไม่ใช่นักธุรกิจที่จะออกมาพบปะสื่อบ่อยนัก สำหรับ ตง ธีระนุสรณ์กิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและนำเข้าสินค้าแบรนด์ดังมากมาย เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม เนย ชีสแบรนด์อลาวรี่ อิมพีเรียล บิสกิต แบรนด์อิมพีเรียล ขนมหวานโรซี่ น้ำผลไม้เข้มข้นซันควิก และยังมีอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป เนื้อและอาหารทะเลอีกสารพัด เรียกว่า สินค้าของบริษัทที่จำหน่ายในห้าง 40-50 แบรนด์ จำนวนสินค้ามากกว่า 1,000 รายการ (เอสเคยู) กินส่วนแบ่งตลาดบนตู้แช่กว่า 50%

แต่ด้วยจังหวะดีที่เขาเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2559 จากมูลนิธิสัมมาชีพ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek จึงได้พูดคุยกับนักบริหารรุ่นเก๋า ผู้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงโลก

“การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา อยู่ที่เราจะตามทันไหม?” ประโยคเปิดการสนทนากับผู้บริหารแห่งนี้

องค์กรหยุดนิ่งไม่ได้ ขณะที่นิสัยและวิธีการทำงานขับเคลื่อนธุรกิจแบบฉบับตงจึงต้องแอ็คทีพอยู่เสมอ 

“ผมไม่เคยหยุดนิ่ง ก็เลยวุ่นวาย จุ้นจ้านแบบนี้ตลอด” เขาหัวเราะ ก่อนขยายความว่า การทำงานไม่ว่าจะเป็นธุรกิจส่วนตัว สวมบทมืออาชีพ ต้องแบกความรับผิดชอบในการใฝ่หาความรู้ให้ทันการ

เปลี่ยนแปลงของโลก ประเทศ และสิ่งใกล้ตัว และการรู้ไม่ใช่รู้คนเดียว แต่ต้อง “ร่วมรู้” กับทุกคนในองค์กร สอดคล้องกับการทำงานที่จะต้องเป็นแบบ One Team, One Goal ทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

หนึ่งในความไม่หยุดนิ่งขององค์กรเก่าแก่ ปีหน้าจะแซยิดฉลองครบ 60ปี ตงเปรยว่า อาจมาพร้อมกับการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนขยายอีกสเต็ปธุรกิจ ทว่าก่อนจะไปถึงจุดนั้น เขาเล่าย้อนประวัติองค์กรให้ฟังว่า 

เริ่มต้นตั้งแต่เขาอายุ 17 ปี โดยมีพี่ชาย “วิจัย วิภาวัฒนกุล” ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ยุคแรกของการทำงานมีพนักงานในห้องประชุมไม่เกิน 10 คน

“พี่ชายเป็นคนก่อตั้งบริษัท ผมสืบทอดต่อจากพี่ชาย และตอนนี้ทำงานร่วมกับเจนเนอเรชั่นที่ 2 ” 

จากบริษัทเล็กๆ ขยับสู่ขนาดกลาง และก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของธุรกิจนี้ เคยทุ่มเททำงานโดยไม่มีวันหยุดด้วยซ้ำ เนื่องจากเป็นกิจการขนาดเล็กและยังพ่วงบทบาทการเป็นเจ้าของ ทำให้ลงแรงกายแรงใจเพื่อธุรกิจเต็มที่ตลอด กระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนไป จึง “ปรับเปลี่ยน”การทำงาน รวมทั้งวิธีบริหารองค์กรให้สอดคล้อง

“ไปถามรุ่นพ่อแม่ดู สมัยก่อนถ้าเป็นลูกคนจีน ตื่นเช้ามาปุ๊ปก็ต้องทำงานแล้ว”

ตงยังเล่าว่า นอกจากนิสัยจะเป็นคนกระชับกระเฉงดันธุรกิจก้าวให้ทันโลกแล้ว  อีกนิสัยส่วนตัวที่ยึดมั่นมาโดยตลอด คือ การทำสัมมาชีพ (Livelihood) หรือการทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต 

“ผมทำทุกอย่าง ล้วนเกิดจากการต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต รวมทั้งมีความขยัน อดทนด้วย และปฏิบัติเองโดยธรรมชาติ”

ผลลัพธ์ของการปฏิบัติดังกล่าว ทำให้วันดีคืนดี มีผู้หลักผู้ใหญ่เห็นคุณค่า และยกย่องให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2559 และเพิ่งไปรับมอบรางวัลมาหมาดๆ เมื่อ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา

อยู่มาวันหนึ่ง มีผู้ใหญ่มาบอกผมเหมาะสมได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ผมก็แปลกใจและเรียนถามท่านว่า ผมเหมาะเหรอ แน่นอนรางวัลเป็นคำตอบแทนคำพูดอย่างดี วันดีคืนดี มีเหตุทำให้ผมภาคภูมิใจ ผมเพิ่งรับรางวัลมา ความภูมิใจผมยังเต็มเปี่ยมอยู่เลย” ประโยคสะท้อนความรู้สึกก้นบึ้งของซีอีโอ

การปฏิบัติดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติดีต่อผู้อื่น ทำธุรกิจบนความถูกต้อง เขาเริ่มจากจุดเล็กๆ ระดับครอบครัว เพื่อนสนิทมิตรสหาย องค์กร สังคมจนถึงระดับประเทศ 

“ในความเป็นเพื่อน ผมเป็นคนติดดิน ขณะเดียวกันไม่เหยียบต้นหญ้า เดี๋ยวตาย” ความหมายเขาคือการไม่ดูถูกดูแคลน เหยียบย่ำผู้อื่น การบริหารองค์กรก็ใช้วิถีพ่อปกครองลูกมากกว่าจะใช้ “พระเดช” อาศัยอำนาจในตำแหน่งหน้าที่มาปกครองคน หรือคัมภีร์ฝรั่ง Position power  

ทว่า ขึ้นชื่อธุรกิจมีการแข่งขันขับเคี่ยว อีกทั้งมุ่งแสวงหากำไรเป็นหลัก ตงบอกว่า ธุรกิจต้องแข่งขัน เพื่อกระตุ้นการเติบโต แต่การแข่งนั้นดำรงอยู่บนแง่บวกหรือลบ นี่คือคำถาม 

“ผมไม่สนใจเลยถ้ามีคุกกี้ยี่ห้อใหม่ๆขึ้นมา ทั้งที่ผมเป็นผู้ผลิตก่อน ถ้ามีคนอื่นผลิตดีกว่าผม ถือว่าเขาเก่ง มีพัฒนาการที่ดี กลับกันนั่นเป็นปัจจัยทำให้เราต้องการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง”

ส่วน“สิ่งเร้า”ที่อาจทำแตกแถวจากวิถีสัมมาชีพ สังคมมีทั้งคนดีและคิดไม่ดี คนมีโอกาสก็คิดต่อแถวทำสิ่งถูกต้องไม่สร้างความเดือดร้อนแก่องค์กรและสังคม ขณะที่คำว่าธรรมาภิบาล อาจเป็นเพียงวาทกรรมในการประกอบธุรกิจ เรื่องนี้พูดมากไปก็ถูกมองว่าโม้ ครั้นไม่พูด ก็จะไม่มีใครรู้ ท้ายที่สุดผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสิน

รางวัลนี้เป็นความสำเร็จอย่างมีนัยยะสำหรับตง แม้เขาจะเป็น “แม่ทัพ” ขับเคลื่อนองค์กร แต่ความสำเร็จจะเกิดไม่ได้ หากไร้ซึ่งฟันเฟืองอื่น ทั้งผู้บริหารมืออาชีพ บุคลากร พนักงานทุกคนที่มีส่วนร่วม 

ทุกคนมีส่วนทำให้ผมได้รับรางวัลนี้ องค์กรไหนถ้าลืมตัวว่าความสำเร็จนั้นเกิดจากเรา โอ้โหผมว่าจะเสียเลยนะ 40 นาทีบนเวทีผมอาจจะพูดว่าผม..ผม..ผม แต่สุดท้ายผมคือตัวแทนองค์กร จึงต้องตอบแทนผู้มีพระคุณ ต้องกตัญญู รู้คุณคน และรู้คุณแผ่นดิน

เมื่อรางวัลเป็นกำลังใจสำคัญในการทำงาน แนวทางเคจีซี สู่ทศวรรษที่ 6 -7 และต่อไปวางไว้อย่างไร ตงบอกว่า องค์กรจะมุ่งสร้าง ความหลากหลายหรือ Diversify ให้กับธุรกิจอาหาร พยายามดึงนวัตกรรมเข้ามาสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอาหารมากขึ้น เพื่อเป็นการเติมเต็มคุณค่าหลักขององค์กร หรือ Core Value ที่ต้องการ ริเริ่มความสุขกับรสชาติ รสนิยมของคุณหรือCreating Pleasure for your taste ที่บริษัทกำลังเปลี่ยนแปลงได้เกินกว่าครึ่งทางแล้ว

นอกจากนี้ กระบวนการผลิต โรงงานจะต้องทำให้มีความกะทัดรัดมากขึ้น 3 โรงงงานที่มีจะหาทางทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตและขนส่งยิ่งขึ้น เพื่อลดขั้นตอนการขนส่ง โยกย้ายสินค้าหรือวัตถุดิบจากที่หนึ่งไปอีกที่ ดังนั้นจึงมองว่าหากโรงงานที่ผลิตสินค้าอาหารนม เนย แล้วเอื้อให้รวมกับสินค้าอื่นในพื้นที่เดียวกันทำได้อีกหรือไม่ รวมถึงการสร้างความเป็นระบบ ทั้งด้านข้อมูล การบริหารจัดการ ยกระดับการทำงานให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น

ตอนนี้เรามุ่งทำเรื่องใหญ่ๆ ด้านระบบ การลงทุนไอที บริหารจัดการ ด้านโลจิสติกส์ เพื่อทำงานที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบริษัท

กุมบังเหียนธุรกิจมานาน เป้าหมายสูงสุดของผู้นำอยากเห็นองค์กรนี้เป็นอย่างไร เขาย้ำ Ultimate goal ของผมคือสร้างค่านิยมหลักขององค์กร Creating Pleasure For Your Taste ให้ประจักษ์แก่ผู้บริโภค ซึ่งตอนนี้กำลังระดมสมองกันอยู่ว่าจะเสริมแกร่งและไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร หลังทำมา 7 ปีแล้ว

อีกประเด็นคือ “เคจีซี เป็นองค์กรเก่าแก่ ซึ่งองค์กรเก่าแก่ในไทยมีประวัติยาวนาน มีผู้สืบทอดเหลือไม่มากนัก แต่ที่กำลังแก่ขึ้นมีตามมาอีกเยอะ องค์กรเก่าที่เหลือมีการเติบโตยิ่งขึ้น เพราะเขาใช้หลักการบริหารโตจากครอบครัว และพึ่งพามืออาชีพ เมื่อองค์กรเป็นมืออาชีพแล้ว เจ้าของต้องเป็นผู้ถือหุ้นที่ดี มืออาชีพที่เข้ามาทำงานจะมีความสุข ซึ่งเราต้องการอยู่ในสถานะนั้น