ทูตสหรัฐสนับสนุนทุนปั้นว่าที่นักบินอวกาศไทย

ทูตสหรัฐสนับสนุนทุนปั้นว่าที่นักบินอวกาศไทย

ทูตสหรัฐร่วมสนับสนุนโครงการเฟ้นหานักบินอวกาศไทย ผ่านโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทยผู้ชนะเลิศจะได้เดินทางไปเข้าคอร์สนักบินอวกาศ 10 วัน ณ ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งสหรัฐ และรับทุนเรียนฟรีในทุกสาขาวิชาจาก สจล.

แถลงข่าวโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทยแถลงข่าวโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย (Discover Thailand’s Astronauts Scholarship Program)
ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ (USSRC) ร่วมกับ บริษัท ซิกเนเจอร์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และ Thailand Space and Aeronautics Research (TSR) จัดตั้งโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย (Discover Thailand’s Astronauts Scholarship Program) ในรูปแบบการแข่งขันชิงทุนการศึกษาด้านการสำรวจอวกาศของรัฐบาลสหรัฐ  โดยจัดเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นปีที่ 2 ในเวทีโลก

ผู้ที่ชนะการแข่งขันชิงทุนจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปศึกษาวิชาการสำรวจอวกาศเบื้องต้นในหลักสูตรเร่งรัด เป็นระยะเวลา 10 วัน ณ ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ที่ฐานทัพ Redstone Arsenal ของกองทัพสหรัฐในเมือง Huntsville มลรัฐ Alabama รวมถึง ได้รับทุนการศึกษาจนจบระดับชั้นปริญญาตรีในคณะใดก็ได้ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ผู้ที่เข้ารับการศึกษาวิชาการสำรวจอวกาศเบื้องต้นจะได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการอวกาศสหรัฐฯทั้งในอดีตและปัจจุบันทั้งหมด จากวิศวกรขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) รวมทั้งศึกษาเกี่ยวกับจรวดรุ่น Space Launch System (SLS) ในโครงการเดินทางไปยังดาวอังคาร นอกจากนี้ ยังจะต้องฝึกการเดินอวกาศแบบไร้น้ำหนัก การนำยานสำรวจอวกาศขึ้นและลงจอดที่สถานีอวกาศเคนเนดี้ (Kennedy Space Center) การบังคับการยานสำรวจอวกาศส่วนบุคคล หรือ Manned Maneuvering Unit (MMU) วิศวกรรมสถานีอวกาศนานาชาติ และ การดำน้ำเพื่อฝึกการทำงานในชุดอวกาศในสภาพไร้น้ำหนัก เป็นต้น 

นายกลิน ที เดวิส์ เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้จะสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ณ ขณะนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐต่างกำลังมองหาผู้เข้าเรียนที่มีหลากหลายทางด้านศักยภาพและเชื้อชาติเพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาหลักสูตรต่อไป 

ในปีนี้จะมีตัวแทนผู้ผ่านคัดเลือกจำนวน 2 คน ที่จะได้ทุนจากรัฐบาลสหรัฐเดินทางไปศึกษาที่ศูนย์อวกาศฯ และยังได้รับทุนการศึกษาจนจบระดับชั้นปริญญาตรีในคณะใดก็ได้ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจะยังมีตัวแทนผู้ผ่านการคัดเลือกอีก 1 คนที่จะได้ทุนพิเศษจากเอส โคลา ซึ่งจะได้รับทุนไปศึกษาที่ศูนย์อวกาศฯ ทุนพิเศษนี้จะเปิดรับผู้สมัครในช่วงอายุที่กว้างขึ้นคือตั้งแต่ 12 – 30 ปี ไม่จำกัดสัญชาติ 

นอกจากนี้ นายธีรเมธ กันต์พิทยา ตัวแทนที่ได้รับทุนจากปีที่ 1  กล่าวว่า มีโอกาสได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้หลักวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสได้ประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ พร้อมทั้งได้เรียนรู้บทบาทของการเป็นนักบินอวกาศโดยการได้รับมอบหมายให้ทำงานในตำแหน่งต่างๆ ของศูนย์วิจัยฯ ซึ่งทำให้สามารถเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในภาวะฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น