ก.วิทย์ฯ-สวทช. ชวนผู้ประกอบการ ช้อปผลงานวิจัยน่าลงทุน

ก.วิทย์ฯ-สวทช. ชวนผู้ประกอบการ ช้อปผลงานวิจัยน่าลงทุน

ก.วิทย์ฯ-สวทช. ชวนผู้ประกอบการ ช้อปผลงานวิจัยน่าลงทุนพร้อมอัพเดท 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ เพื่อเตรียมตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่อาจส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ สังคม ในงาน THAILAND TECH SHOW 2017 

ภาพประกอบ : อุปกรณ์แปลงเพศปลานิลด้วยวิธีไฟฟ้า

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงการจัดงาน "Thai Tech EXPO 2017"  ว่าเป็นการระดมผลงานและนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฝีมือคนไทย รองรับการพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ระหว่างวันที่ 20 - 24 กันยายน 2560 ณ ฮอลล์ 105-106 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา 

Thai Tech EXPO 2017 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด : "เทคโนโลยีไทย...ก้าวไกลสู่ไทยแลนด์ 4.0" ซึ่งเป็นการรวมงานใหญ่ประจำปี 3 งาน คืองาน Thailand Tech Show นิทรรศการแสดงผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จำนวน 6 คลัสเตอร์  และ งาน TechoMart มาจัดรวมกัน เพื่อนำเสนอผลงานโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงบริการต่างๆ ของ 15 หน่วยงานภายในสังกัดกระทรวง และงาน  NSTDA Investors 'Day การนำเสนอผลงานเทคโนโลยีต่อนักลงทุนเป้าหมาย (Investment Pitching Session) และร่วมโหวตผลงานวิจัยที่น่าลงทุน  

Thai Tech EXPO 2017 วันที่ 20 - 24 กันยายน 2560 ณ ฮอลล์ 105-106 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ทั้งนี้เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" รวมทั้งเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของคนไทย ในการนำมาพัฒนาประเทศและต่อยอดการค้าในเชิงพาณิชย์

"ตลอดระยะเวลา 5 วัน ของการจัดงาน ยังมีการประชุม เสวนาทางวิชาการ การฝึกอบรมสาธิตเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างอาชีพ การบริการให้คำปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการเจรจาธุรกิจ (Business Matching/Pitching) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้คนไทย เกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้น พัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ เพื่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0" ดร.อรรชกา กล่าว 


ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า งานดังกล่าวมีผลงานจาก สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรจากทั่วประเทศ กว่า 350 ผลงาน ที่นำเสนอในรูปแบบตลาดเทคโนโลยี ผู้ซื้อพบผู้ขาย สนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยี และ Tech Startup รวมทั้งเชื่อมโยงการลงทุนในรูปแบบใหม่ หรือแหล่งทุนที่เหมาะสม เพื่อเป็นกลไกการเร่งสร้างนวัตกรรมและการต่อยอดให้เกิดได้เร็วขึ้นในวงกว้าง รวมถึงการขยายตลาดให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยี 


การจัดแสดงผลงานจะแบ่งตามกลุ่มเทคโนโลยีสำคัญ อาทิ กลุ่มเครื่องมือ/เครื่องจักร,อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องแยกเนื้อมะม่วงสุกขนาดเล็ก และ เครื่องตัด-สับบด ต้นข้าวโพดแบบติดรถไถเดินตาม จาก สวทช. อุปกรณ์บอกหมายเลขสลากกินแบ่งรัฐบาลสำหรับคนตาบอด จาก ม.นเรศวร 


กลุ่มการแพทย์ เวชสำอางและเวชภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับบรรเทาอาการจากโรคพาร์กินสันในผู้สูงอายุ จาก วว. เครื่องช่วยพยุงเดินต้านแรงโน้มถ่วง แบบอัตโนมัติ จาก ม.เทคโนโลยีสุรนารี กลุ่มเกษตร/ประมง, อาหาร/เครื่องดื่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบต้ากลูแคนจากเห็ดลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเกาต์ และ เครื่องดื่มธัญชาติที่มี GABA สูง จาก กรมวิทยาศาตร์บริการ เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ สามารถเจรจาธุรกิจและขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและจำหน่ายได้ทันที 


อีกไฮไลต์สำคัญของงาน คือ การนำเสนอ 5 ผลงานวิจัยเด่นของ สวทช. ที่พร้อมนำเสนอต่อนักลงทุน ได้แก่   


1.ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารด้วยเทคโนโลยีบลูทูธพลังงานต่ำ หรือ "อยู่ไหน 3 มิติ" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม "   อยู่ไหน (ในอาคาร)" สำหรับให้บริการข้อมูลตำแหน่ง หรือข้อมูลเส้นทางการเคลื่อนที่ ของคนหรือวัตถุสิ่งของภายในอาคารแบบออนไลน์ ที่ใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวขนาดเล็กและมีระบบสื่อสารไร้สายมาตรฐาน บลูทูธพลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy) และมาตรฐานไวไฟ (Wi-Fi) ที่สามารถสื่อสารได้ในระยะที่ไกลกว่าระบบ RFID 

2. เทคโนโลยีแก๊สเซนเซอร์ต้นทุนต่ำและประหยัดพลังงาน หรือ "GASSET" สร้างแก๊สเซนเซอร์ชนิดฟิล์มบางสารกึ่งตัวนำโลหะออกไซด์ของไทย ที่ใช้พลังงานต่ำใกล้เคียงระดับแก๊สเซนเซอร์ชนิดเมมส์ (MEMS gas sensor) แต่สร้างขึ้นได้ด้วยกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ 

3. ระบบการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยสนามไฟฟ้าพัลส์ หรือ "Dr. Pulse Pro" สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่ม ใช้หลักการสนามไฟฟ้าพัลส์กระตุ้นเป็นจังหวะส่งผลให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในของเหลวหรือเครื่องดื่มถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ช่วยคงคุณค่าสารอาหาร ความสดใหม่ สีสัน และรสชาติตามธรรมชาติไว้ได้อย่างครบถ้วน และประหยัดต้นทุนการใช้พลังงานในการผลิต
สำหรับเทคโนโลยีที่ 4. แผ่นกรองนาโนสมบัติพิเศษ ต้านแบคทีเรีย หรือ "n-Breeze"  ผลิตจากเส้นใยนาโนมัลติฟังก์ชันที่ขึ้นรูปด้วยกรรมวิธีเฉพาะทำให้มีคุณสมบัติต้านเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อวัณโรคที่สามารถแพร่ทางอากาศได้ง่าย 

และ 5. อุปกรณ์แปลงเพศปลานิลด้วยวิธีไฟฟ้า หรือ "Fish X-Change" เป็นชุดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีการขยายรูเยื่อหุ้มเซลล์ไข่ปลาด้วยสนามไฟฟ้าแบบพัลส์ (pulse electric fields) ซึ่งทำให้สารละลายฮอร์โมนเพศเข้าสู่ไข่ปลาได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น สามารถแปลงปลาเพศเมียเป็นปลาเพศผู้ได้ โดยใช้ระยะเวลาสั้นกว่าการแปลงเพศด้วยฮอร์โมนแบบเดิม เนื่องจากปลาเพศผู้เป็นปลาที่โตเร็วและเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า ที่สำคัญชุดอุปกรณ์ดังกล่าวยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดสารปนเปื้อน และเป็นเทคโนโลยีสะอาด รักษ์สิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย รวมทั้งยังมีหน่วยงานพันธมิตรอีก 9 ผลงานมานำเสนอต่อนักลงทุน
 

ในวันเดียวกันนี้ผู้เข้าร่วมงาน ยังจะได้รับฟังการบรรยายพิเศษ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ บรรยายโดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจทราบแนวโน้ม 10 เทคโนโลยีในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่อาจจะส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ สังคมและเศรษฐกิจของประเทศ 

พร้อมกันนี้ สวทช. ยังจัดเสวนาพิเศษ เรื่อง "Power Up Business with STI" เสริมพลังธุรกิจด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปิดมุมมอต่อยอดธุรกิจ และเตรียมความพร้อมกับเทคโนโลยีก้าวหน้าในยุค Thailand 4.0 ผ่านมุมมองของผู้บริหารองค์กรด้านวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่จะมาแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ พร้อมขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมงานฟรี ที่ www.nstda.or.th/thailandtechshow หรือสอบถามรายละเอียดโทรศัพท์ 0 2564 8000