ปัญญาประดิษฐ์…เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

ปัญญาประดิษฐ์…เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

ดร.อดิสร  เตือนตรานนท์ ติดตามความเคลื่อนไหวของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ทั้งอ้างอิงคำพูดของ ปธน.ปูตินว่า “ถ้าผู้ใดครอบครองเทคโนโลยีนี้ ผู้นั้นจะสามารถครองโลก” แล้วตั้งคำถามถึงการวางแผนรับมือของไทยแลนด์ 4.0 

Artificial Intelligence (A.I.) หรือปัญญาประดิษฐ์ นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่มาแรงมากในช่วงนี้ เป็นเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น ระบบแผนที่การเดินทาง ระบบยานยนต์ไร้คนขับ ระบบประหยัดพลังงานภายในบ้านและอาคาร ระบบรักษาความปลอดภัยจากการจดจำใบหน้า และอื่นๆ อีกมากมาย และพลิกโฉมธุรกิจในอนาคตอันใกล้ 

ตัวอย่างเช่น การจัดเก็บสต๊อกสินค้า การกระจายสินค้า การซื้อขายและนำเสนอสินค้าผ่านการตลาดสมัยใหม่ที่มีการวิเคราะห์และเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า หรือแม้กระทั่งศาลยุติธรรมก็ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการตัดสินคดีความ เป็นต้น 

ถ้าติดตามอ่านข่าวเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เราจะเห็นความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักนับตั้งแต่การพ่ายแพ้ของแชมป์โลกเกมส์ Go ต่อ AlphaGO ปัญญาประดิษฐ์แบบ Deep Learning ของบริษัท Google การออกมาเตือนโดย Elon Musk ถึงอันตรายของภัยคุกคามของปัญญาประดิษฐ์ต่อมวลมนุษยชาติและอาจจะทำลายโลกได้ในอนาคต การออกมาพูดโดยประธานาธิบดี ปูติน ของรัสเซีย ว่า ถ้าผู้ใดครอบครองเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ผู้นั้นจะสามารถครองโลก 


ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ www.timeshighereducation.com ปรากฏว่า ประเทศจีน เป็นประเทศที่จดสิทธิบัตรด้านปัญญาประดิษฐ์มากที่สุดในโลก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีสิทธิบัตรมากถึงเกือบ 40,000 เรื่องและมากกว่าอเมริกาถึงเกือบเท่าตัว ล่าสุดมีข่าวน่าตื่นเต้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ ปัญญาประดิษฐ์สามารถระบุว่าผู้นั้นเป็นเกย์หรือไม่โดยเพียงดูจากรูปถ่าย 


ผมว่าถึงจุดนี้ ปัญญาประดิษฐ์เริ่มเก่งกว่ามนุษย์และเก่งกว่าผมเสียอีก ตอนนี้หลายๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างสนใจและตั้งแผนกหรือแล็บด้านปัญญาประดิษฐ์กันยกใหญ่ ราวกับว่ากลัวจะตกขบวนรถไฟความเร็วสูง นับตั้งแต่ Intel, Microsoft, Baidu, Samsung, Hitachi ฯลฯ หลายมหาวิทยาลัยออกมาเปิดหลักสูตรด้านปัญญาประดิษฐ์ทั้งมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง MIT ก็เปิดให้ทุกคนสามารถเรียนฟรีผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย OpenCourseWare และอีกหลายสถาบัน 

ล่าสุดข่าวที่ IBM ร่วมมือกับ MIT ลงทุนสร้างห้องแล็บ MIT-IBM Watson AI lab โดยลงทุนสูงถึง 240 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 8,000 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า ห้องแล็บนี้จะวิจัยองค์ความรู้พื้นฐานและองค์ความรู้ใหม่ด้านปัญญาประดิษฐ์ที่จะพัฒนาทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงอัลกอลิธึมที่ก้าวหน้าทันสมัยเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไปสู่ธุรกิจ โดยเน้นธุรกิจด้านสุขภาพและสาธารณสุข และการรักษาความปลอดภัยจากไซเบอร์ (Cybersecurity) นับว่าเป็นการลงทุนวิจัยระหว่างบริษัทเอกชนและมหาวิทยาลัยในระยะยาวในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ 

ประเทศไทยมีการตื่นตัวในเรื่องนี้พอสมควรทั้งในแวดวงวิชาการและธุรกิจ แต่ยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง ทั้งระดับอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับต่างประเทศทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณของบุคลากร 

แล้วประเทศไทย 4.0 มีการวางแผนที่จะรับมือเทคโนโลยีนี้อย่างไร 

*บทความโดย ดร.อดิสร  เตือนตรานนท์  ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ