ETE ตัวจริง 'ธุรกิจเอาท์ซอร์ส'

ETE ตัวจริง 'ธุรกิจเอาท์ซอร์ส'

'บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง' ส่งคำมั่นสัญญา ไม่เกิน 5 ปี พร้อมขึ้นแท่น ผู้นำธุรกิจให้บริการบริหารจัดการครบวงจร 'ไรวินท์ เลขวรนันท์' หุ้นใหญ่ การันตีปีนี้รายได้เติบโต 20% รุกธุรกิจใหม่ๆ เสริมพอร์ตลงทุน

เข้าเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ได้เพียง 7 เดือน แต่ 'ตัวเลขมูลค่าตามราคาตลาด' หรือ market cap ของ บมจ.บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง หรือ ETE กลับขยับตัวลดลงจากวันแรกที่เข้าซื้อขาย (วันที่ 15 ก.พ.2560) จาก 3,220 ล้านบาท เป็น 1,870.40 ล้านบาท สอดคล้องกับราคาหุ้น ETE ที่เคยปรับตัวขึ้นไป 'สูงสุด' 7.55 บาท (15ก.พ.60) และ ปรับลดลง 'ต่ำสุด' 3.06 บาท (23ส.ค.60) เป็นราคาเฉลี่ย 4.73 บาท 

ถือเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับ 'ผลกำไรสุทธิ' ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 ที่ทำกำไรได้ดีสุด แค่ 8.64 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2560 ที่มีกำไร 17.29 ล้านบาท และมีรายได้ 355.87 ล้านบาท และ 351.36 ล้านบาท มาจากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 4.49 ล้านบาท แต่กำไรขั้นต้นลดลง 4.44 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจด้านวศิวกรรมลดลงจาก 20.46% เป็น 17.44% 

ทว่า ในครึ่งปีหลังแนวโน้มธุรกิจจะเริ่มกลับมา สะท้อนภาพจากงานให้บริการงานวิศวกรรมจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก จากการเข้าประมูลงานใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก มูลค่าราว 2,000-3,000 ล้านบาท และธุรกิจบริการบริหารจัดการ ก็เตรียมเข้าประมูลงานบริหารจัดการ Outsourcing ในเดือนต.ค.นี้ มูลค่าราว 4,000 ล้านบาท 

'ไรวินท์ เลขวรนันท์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง หรือ ETE ยืนยันผ่าน 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ก่อนแจกแจงเป้าหมาย 3-5 ปีข้างหน้า (2560-2564) ตั้งเป้าเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการบริหารจัดการ (Management Service) ครบวงจรในประเทศไทย หลังแนวโน้มการเติบโตจากกลุ่มลูกค้าภาครัฐอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้จ้างเหมาหน่วยงานภายนอก (Outsource) ในส่วนงานที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของหน่วยงาน หรือส่วนงานที่หน่วยงานภายนอกสามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพมากกว่า และส่วนงานที่ภาครัฐมีอัตรากำลังคนไม่เพียงพอ โดยมีการกำหนดเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรภาครัฐไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540–2544) ที่ผลักดันให้มีการปรับลดตำแหน่งข้าราชการและลูกจ้างประจำลง  

'ฉะนั้น ถือเป็นโอกาสของบริษัทที่จะเข้าไปรับงานใหม่ๆ เพิ่มในอนาคต'  

บริษัทแบ่งสัดส่วนรายได้ธุรกิจ 3 ประเภท คือ 'ธุรกิจบริการบริหารจัดการ' (Management Service หรือ MS) ประกอบด้วย งานบริหารจัดการบุคลากร (Manpower Management หรือ MM) งานบริหารจัดการระบบงานธุรกิจ (Business Process Outsourcing หรือ BPO) และงานบริหารจัดการรถเช่าพร้อมพนักงานขับรถ (Car Rental Management หรือ CM)

'ธุรกิจบริการงานวิศวกรรม' (Engineering Service หรือ EN) ประกอบด้วย งานวิศวกรรมระบบไฟฟ้า (Electrical Power Engineering System หรือ EE) และงานวิศวกรรมระบบโทรคมนาคม (Telecommunication Engineering System หรือ TL) และ 'ธุรกิจพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์' (Solar Energy หรือ SE)

เมื่อถามถึงกลยุทธ์ลงทุนของบริษัท 'หุ้นใหญ่' ตอบว่า ล่าสุด บริษัท 'แตกไลน์' เข้าไปในธุรกิจใหม่ นั่นคือ 'ธุรกิจจัดหาและจำหน่ายสินค้ากลุ่มอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย' (เทรดดิ้ง) โดยดำเนินการผ่าน บริษัท โกลว์ เทรดดิ้ง แอด์ เซอร์วิส จำกัด (GTS) โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้ที่ 100 ล้านบาท รวมทั้ง ศึกษาแตกไลน์ในธุรกิจเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม ที่จะเข้ามาเสริมในส่วนของธุรกิจให้บริการงานวิศวกรรม ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงการให้บริการวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมสื่อสาร ขณะนี้ได้มีการเจรจากับพันธมิตรจำนวน 2 ราย คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3 ปี 2560 หรือ ไตรมาส 4 ปี 2560 เบื้องต้นคาดว่าลักษณะการลงทุนจะเป็นการเข้าไปร่วมทุน (JV) 

เจาะลึกลงในแผนธุรกิจและโอกาสเติบโต 'ธุรกิจให้บริการบริหารจัดการ' คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 45% โดยเฉพาะในงานเอาท์ซอร์ส (Outsource) ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์กรภาคเอกชนได้มีนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร โดยการจ้างเหมาหน่วยงานภายนอก เพื่อดำเนินการแทนในส่วนที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของหน่วยงาน ถือเป็นโอกาสในการเข้าไปรับงานในส่วนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น 

ปัจจุบันบริษัทให้บริการลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 60 องค์กร โดยมีพนักงานที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่มบริษัทกว่า 5,000 คนต่อปี

'ธุรกิจให้บริการงานวิศวกรรม' คิดเป็น 45% ของรายได้ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.งานวิศวกรรมระบบโทรคมนาคม ปัจจุบันตลาดซบเซา แต่มองว่าในอนาคตธุรกิจสื่อสารต้องมีการลงทุน สะท้อนจากยอดการใช้ 'ดาต้า' ลูกค้าของโอเปอร์เรเตอร์รายใหญ่ มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 4 เท่า นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการต้องมีการขยายโครงข่ายเพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสของบริษัท และที่ผ่านงานระบบโทรคมนาคมจะเติบโตตามอุตสาหกรรมสื่อสารที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 10-20% 

และ 2.งานวิศวกรรมระบบไฟฟ้า ตลาดธุรกิจไฟฟ้าถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าใหญ่มาก แต่ที่ผ่านมาบริษัทไม่สามารถเข้าไปรับงานได้ เพราะว่าติดปัญหาเรื่องเงินทุน  แต่หลังจากบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดมีเงินพร้อมรับงานแล้ว หลังจากนี้คาดว่าธุรกิจงานระบบฟ้าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-20% สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

'แม้ว่าในปีนี้งานวิศวกรรมสื่อสารจะหดตัวลง แต่บริษัทได้หางานใหม่ ๆ เข้ามาสร้างรายได้เสริมเข้ามา อาทิ สร้างสนามซ้อมยิงปืน ขณะที่งานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าก็ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก'

'ธุรกิจพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์' คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% ซึ่งตอนนี้มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 16.7 เมกะวัตต์ที่เริ่มจ่ายไฟตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว รับรู้รายได้120-130 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมองหาโอกาสจะลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟเพิ่มเติม หรืออาจจะเข้าไปในรูปแบบการรับงานก่อสร้างและวางระบบ (EPC) โดยจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขผลตอบแทนการลงทุนอยู่ในระดับที่เหมาะสม 

ประกอบกับ อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหรรมหลายรายที่มีความสนใจติดตั้งโซลาร์รูฟ ทั้งการเข้าไปร่วมลงทุนและรับงานติดตั้งระบบ แต่หากเป็นการลงทุนของบริษัทเองนั้นจะพิจารณาดำเนินการหากต้นทุนลดลงจากปัจจุบันราว 20-30% เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่คุมค่า ซึ่งบริษัทยืนยันว่ามีความพร้อมในการลงทุนจากกระแสเงินสดและเงินทุนที่ได้จากการระดมทุน

'ไรวินท์' วิเคราะห์ครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตกว่าครึ่งแรก หลังจากบริษัทมีการเข้าประมูลงานใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น งานให้บริการงานวิศวกรรม มูลค่าราว 2,000-3,000 ล้านบาท และธุรกิจบริการบริหารจัดการ ก็เตรียมเข้าประมูลงานบริหารจัดการ Outsourcing ในเดือนต.ค.นี้ มูลค่า 4,000 ล้านบาท

รวมทั้ง คาดว่าจะพิจารณาปรับเป้ารายได้เพิ่มช่วงปลายไตรมาส 3 ปี 2560 จากเดิมตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 15-20% จากปีก่อนมีรายได้ที่ 1,416.41 ล้านบาท ปัจจุบันเรามีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้จำนวน 1,376 ล้านบาท แบ่งเป็น งานบริการงานวิศวกรรม ราว 524 ล้านบาท และงานบริการจัดการราว 725 รวมถึงพลังงานทดแทนราว 127 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ได้ในช่วงปี 2561-2562 ส่วนงานเทรดดิ้งปีนี้ตั้งเป้ารายได้ที่ 100 ล้านบาท 

ล่าสุด บริษัทเพิ่มสายงานด้านวิศวกรรมก่อสร้างเข้ามารับงานสร้างสนามซ้อมยิงปืนที่ใช้เทคโนโลยีสูงจากประเทศสหรัฐ โดยเริ่มรับงานของหน่วยงานตำรวจเป็นโครงการแรกมูลค่าราว 75 ล้านบาท และคาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรับงานโครงการอื่น ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งเชื่อว่าโอกาสของงานสร้างสนามซ้อมยิงปืนในประเทศยังมีอีกมาก 

ขณะที่ ธุรกิจบริการจัดการ (เอ๊าท์ซอร์ส) คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2560 จะได้รับงานเข้ามามาก เนื่องจากลูกค้าเดิมหลายรายจะสิ้นสุดสัญญาให้บริการ ซึ่งทั้ง 100% เป็นหน่วยงานราชการ เชื่อว่าจะมีการต่อสัญญาใหม่กับบริษัท ซึ่งปริมาณงานน่าจะค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น และเป็นงานที่สร้างอัตรากำไรที่ดีกว่าด้วย เชื่อว่าจะช่วยหนุนผลประกอบการในปีนี้ได้ออกมาดีขึ้นกว่าปีก่อนด้านงานเทรดดิ้งสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีความปลอดภัย ในช่วงครึ่งปีหลังนี้คาดว่าจะได้ทยอยได้รับงานเข้ามาเพิ่มขึ้นจากที่ได้เจรจาไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถคาดเดาปริมาณงานได้ เพราะเป็นการรับงานในรูปแบบ Made To Order อีกด้วย 

จุดเริ่มต้นธุรกิจ ETE 

'ไรวินท์ เลขวรนันท์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง หรือ ETE เล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่ไม่ชอบเรียน แต่ชอบทำงาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในร้านไดนาโม ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเป็นธุรกิจของครอบครัว ได้ค่าแรงวันละ 100 บาท หลังเรียนจบจาก ปวช.สาชาช่างกล วิทยาลัยอาชีวะเซนต์ดอนมอสโก 

แต่ทำอยู่ระยะหนึ่งก็บอกตัวเองไม่ไหวแน่ 'รวยไม่ทันใจ' ก็เริ่มมองหางาน หาธุรกิจ และบังเอิญรู้ว่ามีงานขออนุญาตการไฟฟ้าติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งงานพวกนี้มีแต่การไฟฟ้าภูมิภาคเท่านั้นที่ทำแล้วคนก็ขอกันเยอะ เสี้ยววินาทีนั้นเองความคิดก็เกิดขึ้นมาในหัวทันทีว่าเข้าไปรับงานนี้มาทำดังนั้น ก็เข้าไปพบผู้จัดการการไฟฟ้าภูมิภาค จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ เริ่มหางานทันที จนกระทั่งได้มา 1 งาน เป็นงานเดินไฟเข้าบ่อกุ้ง 'มูลค่า8แสนบาท'

งานแรกผ่านไป จากนั้นก็รับงานติดตั้งไฟฟ้าเรื่อยมา ทั้งปั๊มน้ำมัน ร้านค้า โรงงานเล็กๆ แล้วก็หมู่บ้านจัดสรร ซึ่งตอนนั้นกำลังบูมมาก ก่อนฟองสบู่แตกตอนนั้นรับงานหมู่บ้านจัดสรรอยู่ถึง 40 โครงการ จนกระทั่งเมื่ออายุประมาณ 21 ก็ได้งานใหญ่คือ งานติดตั้งระบบส่งกำลังไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจซึ่งกำลังขยายการผลิตภาคใต้ 

และเริ่มมองหางานใหม่อีก ปี 2544-2545 ธุรกิจสื่อสารกำลังมาทุกค่ายต้องติดตั้งโครงข่ายสัญญาณ ก็เข้าไปตรงนั้นทำให้กับค่ายเอไอเอส พอมาถึงปี 2547 เอไอเอสก็ชะลองานติดตั้งโครงข่าย ถึงตรงนี้ต้องมองหางานใหม่อีกแล้ว ในระหว่างที่ทำงานกับพวกสื่อสารก็บังเอิญไปได้ยินคำว่า 'เอาท์ซอร์ส' ที่แรกก็ไม่รู้มันเป็นไงไปศึกษาหาความรู้จนเข้าใจว่า “เอาท์ซอร์ส” ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจและเริ่มเข้ามาทำตั้งแต่นั้นมา...