เปิดมติปปช.ตีตก'ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์' จัดการน้ำเกิดอุทกภัย54

เปิดมติปปช.ตีตก'ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์' จัดการน้ำเกิดอุทกภัย54

"ป.ป.ช." เปิดคำวินิจฉัย ตีตกคดี "ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์" จัดการน้ำจนเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ด้าน "ยงยุทธ-ธีระ-ประชา-สุขุมพันธุ์" รอดตามกัน

นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงถึงกรณี ป.ป.ช. มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ครั้งดำรงตำแหน่งรมว.มหาดไทย, นายธีระ วงศ์สมุทร ครั้งดำรงตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์, พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ครั้งดำรงตำแหน่งรมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.), ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. กรณีเก็บกัก ควบคุม ระบาย หรือการบริหารจัดการน้ำ เป็นเหตุให้เกิดมหาอุทกภัยปี 2554 นั้น

จากการไต่สวนได้ความว่า ในปี 2554 ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ถูกพร่องน้ำโดยการจัดสรรน้ำสำหรับกิจกรรมการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ ในฤดูแล้ง ที่ผ่านมา

นายวรวิทย์ กล่าวว่า โดยเมื่อต้นฤดูฝนต้นเดือนพฤษภาคม 2554 มีปริมาณน้ำในเขื่อนแต่ละแห่งเหลือเพียงร้อยละ 45, 50, 27 และ 38 ตามลาดับ ต่ำกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำต่ำสุดทุกเขื่อน ต่อมาในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของพายุโซนร้อนจำนวน 5 ลูก ทำให้พื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนมากผิดปกติ โดยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 42, 24, และ 26 ตามลำดับ

ปริมาณฝนตกในภาคเหนือสูงสุด ตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยาได้เคยเก็บข้อมูลมา และฝนตกในภาคเหนือสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี เป็นผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มากที่สุดตั้งแต่เริ่มเก็บกักน้ำ ถึงแม้ว่าจะทำการพร่องน้ำไว้รองรับสถานการณ์ตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูฝน แต่ไม่สามารถรองรับน้าที่มีจำนวนมหาศาลได้ทั้งหมด จำเป็นต้องระบายน้ำออกบางส่วนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยการบริหารจัดการน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะร่วมกันพิจารณา โดยคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ประกอบด้วย 10 หน่วยงาน ดังนี้ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

หน.ปชป.ไม่โดนปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จนเหนือ14จังหวัดท่วม
นายวรวิทย์ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งประเด็นพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้ 1.นายอภิสิทธิ์ได้ดำเนินการกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ไว้ก่อนที่จะเกิดอุทกภัยไว้จำนวนมาก ไม่มีการบริหารจัดการระบายน้ำจนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือ 14 จังหวัด และไหลลงมาท่วมบริเวณพื้นที่ภาคกลาง หรือไม่

"คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า นายอภิสิทธิ์ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการกำหนดปริมาณน้ำที่จะระบายหรือเก็บกักไว้ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์แต่อย่างใด แต่เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ซึ่งต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการในการดำเนินการปล่อยน้ำและเก็บกักน้ำ อีกทั้งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2554 น้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำต่ำสุดทุกเขื่อน ดังนั้น จะเห็นได้ว่านายอภิสิทธิ์มิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอันเป็นสาเหตุให้เกิดอุทกภัยครั้งนี้ และกรณีการกระทำของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำนั้น จากการไต่สวนไม่ปรากฎพฤติการณ์ และพยานหลักฐานว่าคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป" นายวรวิทย์ กล่าว

"ยิ่งลักษณ์-ยงยุทธ-ธีระ" โล่งอก ไม่โดนละเว้น ปมผันน้ำออกจากเขื่อนจนท่วมหนัก
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายยงยุทธ นายธีระ ได้ละเว้นไม่ดำเนินการผันน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ไปทางตะวันออกและทางตะวันตกโดยเฉพาะจังหวัดสุพรรณบุรี ตามแผนการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือ 14 จังหวัดและไหลลงมาท่วมบริเวณพื้นที่ภาคกลางนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า แผนการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ดังกล่าว ได้กำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการ สถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม โดยแผนดังกล่าวได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยในภาพรวม แต่มิได้มีการระบุถึงรายละเอียดการผันน้ำ การผันน้ำจากทางภาคเหนือไม่ว่าในกรณีใดๆ ต้องกระทำให้เป็นไปตามสถานการณ์ในขณะประสบเหตุ การปฏิบัติหน้าท่ีของเจ้าหน้าท่ี ที่เกี่ยวข้องพบว่า เป็นไปตามหลักการและตามเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดข้ึนจริงในพื้นที่ แม้จะมีการผันน้ำในทาง ตะวันออกและตะวันตกก็ไม่อาจจะบรรเทาความเสียหายจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่างได้

"กรณีนี้จึงฟังไม่ได้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายยงยุทธ นายธีระ ได้ละเว้นไม่ผันน้ำตามแผนการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป" นายวรวิทย์ กล่าว

"ประชา" รอด เพราะแจ้งเตือน-เยียวยาปชช.แล้ว
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่าประเด็นที่ 3 พล.ต.อ ประชา ละเว้นไม่ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 - 2557 เพื่อทำการประเมินและแจ้งเตือนอุทกภัยให้ประชาชนทราบ หรือไม่นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า พลต.อ.ประชา ได้ดำเนินการให้มีการจัดต้ังคณะกรรมการต่างๆ มีการเตือนภัยและให้การเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เตรียมการป้องกันรับมืออุทกภัยผ่านสื่อต่างๆ และมีประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาในท้องท่ี ที่เกิดอุทกภัย และมีสายด่วนรับแจ้งเหตุและสอบถามข้อมูล 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งจังหวัดทุกจังหวัดให้ทราบถึง สถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการดำเนินการท้ังการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ท้ังก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัยและหลังจากเกิดภัย จึงเห็นว่าข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป

บิ๊กแบ็ก "สุขุมพันธุ์" ไม่มีเจตนาให้ "ปทุมธานี" ท่วม
นายวรวิทย์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 4 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ออกนโยบายป้องกันพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการสร้างคันกระสอบทรายและแนวกระสอบทรายยักษ์ (Big Bag) โครงสร้างรูปตัวแอล เพื่อป้องกันอุทกภัยให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นท่ีกทม. โดยมีเจตนาให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและพื้นที่โดยรอบได้รับความเสียหายหรือไม่

"คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นการดำเนินการส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมตามแนวทางท่ีรับมาจาก ศปภ. ซึ่งมีความจำเป็นที่หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการไปในทางท่ีเป็นการรักษาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ถึงแม้จะมีพื้นที่รอบนอก กทม.ได้รับผลกระทบก็ตาม แต่มิได้มีเจตนาให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และพื้นที่โดยรอบได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จึงเห็นว่าข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหา เป็นอันตกไป" นายวรวิทย์ กล่าว

"ป.ป.ช." ไต่สวน "ยิ่งลักษณ์" ต่อ คดีแผนออกแบบก่อสร้าง แก้อุทกภัย 3.5 แสนล้าน
"อย่างไรก็ตาม เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปนั้น เป็นคนละกรณีกับเรื่องกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ กับพวก กรณีการดำเนินโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ วงเงิน 350,000 ล้านบาท ซึ่งในขณะน้ีอยู่ในระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช." นายวรวิทย์ กล่าว