'คมนาคม'เดินหน้าทำระบบจอดแล้วจรในกทม.-ปริมณฑล

'คมนาคม'เดินหน้าทำระบบจอดแล้วจรในกทม.-ปริมณฑล

"คมนาคม" เร่งเดินหน้าทำระบบจอดแล้วจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล หวังดึงประชาชนให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่จะเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรที่ติดขัด ในปัจจุบันให้บรรเทาเบาบางลง โดยให้พิจารณาความเชื่อมโยงของระบบขนส่งมวลชน ซึ่งพบว่าเกิดปัญหาในช่วงรอยต่อของระบบขนส่งสาธารณะที่มีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับจอดรถไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รัฐบาลจึงมีนโยบายให้จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดทำที่จอดรถให้บริการในพื้นที่ที่การจราจรติดขัด และพื้นที่รองรับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาจัดทำระบบจอดแล้วจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้จุดจอดแล้วจรเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าการจัดทำจุดจอดแล้วจรจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาจราจรได้โดยจัดสรรพื้นที่จอดรถใกล้สถานีระบบขนส่งมวลชน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีจุดบริการจอดแล้วจรสำหรับให้บริการประชาชน ได้แก่ บริเวณสถานีในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวน 3 แห่ง ระบบรถไฟฟ้ามหานคร ตลอดเส้นทางจากหัวลำโพงถึงบางซื่อ จำนวน 12 แห่ง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 6 แห่ง รถไฟฟ้าสายใหม่จำนวน 7 สายทาง โดยสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูนมีบริการอาคารจอดรถจำนวน 4 แห่ง และสายอื่นๆ อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะเข้ามาพื้นที่ชั้นใน แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อลดความแออัดของปริมาณรถยนต์ ลดจำนวนที่จอดรถในอาคารสำนักงาน ลดมลพิษทางอากาศและทางเสียง อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน อีกทางหนึ่งด้วย

นายธีระพงษ์ ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า​ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการขยายโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางให้ครอบคลุมเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระบบจอดแล้วจรถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการใช้ระบบขนส่งมวลชนโดยเพิ่มขอบเขตพื้นที่บริการของสถานีระบบขนส่งมวลชนให้กว้างมากขึ้น แต่ยังพบว่า ปัญหาหลักของระบบจอดแล้วจรมีหลายประเภท ได้แก่ จุดจอดแล้วจรไม่เพียงพอต่อความต้องการ การใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ และการใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่จุดจอดแล้วจร ในการเสนอแนะรูปแบบ ตำแหน่ง และการศึกษา ความคุ้มค่าในการลงทุนสำหรับที่ดินของภาครัฐและเอกชน อีกทั้งจุดจอดแล้วจรที่มีอยู่ในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นโดย ไม่มีแผนที่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน แม้อาจจะมีความพยายามประเมินความจุของที่จอดรถตามความต้องการ ใช้งานจริง แต่ส่วนใหญ่แล้วจำนวนที่จอดแล้วจรที่สร้างขึ้นถูกกำหนดโดยขนาดที่ดินที่สามารถจัดหาได้เป็นหลัก โดยไม่มีการพิจารณาวางแผนจุดจอดแล้วจรอย่างเป็นระบบในระดับภาคมหานคร นอกจากนี้ แม้ในปัจจุบันที่จอดรถเพื่อจอดแล้วจรมีการดำเนินการจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพ

ในการพัฒนาเพื่อใช้เป็นจุดจอดแล้วจร แต่ยังไม่มีการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมในการดำเนินการ ซึ่งโครงการศึกษาจัดทำระบบจอดแล้วจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีวัตถุประสงค์ ได้แก่

1) เพื่อศึกษาและประเมินอุปสงค์การใช้จุดจอดแล้วจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยใช้ข้อมูลคาดการณ์ปริมาณผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนทางรางจากแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) ของ สนข. เป็นพื้นฐานในการศึกษาและประเมิน

2)​เพื่อกำหนดที่ตั้งขนาดความจุดที่เหมาะสมในการพัฒนาจุดจอดแล้วจรให้สอดคล้องกับอุปสงค์การใช้จุดจอดแล้วจรสำหรับระบบขนส่งมวลชนทางรางตามแผน M-MAP รวมถึงพัฒนาแนวทาง ในการกำหนดองค์ประกอบของจุดจอดแล้วจรสำหรับแต่ละพื้นที่

3)​เพื่อเสนอทางเลือกรูปแบบการบริหารจัดการ การลงทุนที่เหมาะสม หน่วยงานรับผิดชอบ มาตรการ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ และรูปแบบการส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้จุดจอดแล้วจรให้มากขึ้น

4)​เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาจุดจอดแล้วจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สนข. ได้ดำเนินการศึกษาโครงการฯ ดังกล่าว มาถึงขั้น ร่างแผนแม่บทการพัฒนาจุดจอดแล้วจร ซึ่งจากผลการศึกษาทำให้ได้แผนแม่บทการพัฒนาจุดจอดแล้วจร การวิเคราะห์ต้นทุนของการพัฒนาจุดจอดแล้วจร รูปแบบการลงทุนและการบริหารจัดการ มาตรการสนับสนุน ให้เกิดการใช้จุดจอดแล้วจร และพื้นที่สำหรับพัฒนาจุดจอดแล้วจร จึงได้จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาจุดจอดแล้วจรร่วมกัน ทั้งนี้ สนข. จะนำข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์จากการสัมมนาฯ ในวันนี้ ไปปรับปรุง แก้ไข และจัดทำแผนแม่บท การพัฒนาจุดจอดแล้วจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสอดรับกับระบบขนส่งมวลชนทางรางที่จะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2572 ต่อไป