‘ไม้โตเร็ว’อนาคตพลังงานชาติ

‘ไม้โตเร็ว’อนาคตพลังงานชาติ

5 พันธุ์ไม้โตเร็ว กระถินเทพณรงค์ กระถินยักษ์ สนประดิพัทธ์ ยูคาลิปตัสและเสม็ดขาว ขึ้นทำเนียบไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างแท้จริง ในฐานะเชื้อเพลิงก้อนพลังงานอัดเม็ด

5 พันธุ์ไม้โตเร็ว กระถินเทพณรงค์ กระถินยักษ์ สนประดิพัทธ์ ยูคาลิปตัสและเสม็ดขาว ขึ้นทำเนียบไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างแท้จริง ในฐานะเชื้อเพลิงก้อนพลังงานอัดเม็ดหรือ Wood Pellet ป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ป่าและเก็บกักคาร์บอนเพื่อช่วยลดโลกร้อนได้มหาศาล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการวิจัยด้านพลังงานชีวมวล ทั้งการบริหารจัดการวัตถุดิบ การจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกพืชพลังงาน ทั้งในส่วนของไม้โตเร็วและหญ้าพลังงาน เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนเชิงนโยบายและเชิงพาณิชย์แก่ภาครัฐและภาคเอกชน

ตอบโจทย์พลังงานยั่งยืน

มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ นักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า นอกจากการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้แล้ว ทาง ม.เกษตรฯและกฟผ.ยังร่วมกันสนับสนุนการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วในสวนยางพาราภาคอีสาน 30-40 ไร่ และจะเพิ่มเป็น 6,500 ไร่ในปีหน้า เตรียมป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจชุมชน กฟผ.ในปี 2563 เริ่มจากกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบชีวมวล 1.5 แสนตันต่อปี
จากการศึกษาพบว่า วัตถุดิบชีวมวล 9 ล้านตันต่อปี เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์ หัวใจสำคัญคือต้องมีการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีข้อมูลที่ทันสมัย และเบื้องต้นควรมีสำรองไว้ 1 เดือน ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่าไม้ที่เหมาะสม คือ กระถินยักษ์ กระถินณรงค์ กระถินเทพา ไม้สะแก สะแกนา รวมถึงไม้มะม่วง มะขาม ส่วนยูคาลิปตัส แม้จะเป็นวัตถุดิบที่ดีแต่อาจเกิดปัญหาการแย่งวัตถุดิบที่ปัจจุบันปลูกเพื่อนำไปทำกระดาษ


นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐฯจะเป็นรูปแบบใหม่ ที่เกษตรกรมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและผลิตวัตถุดิบชีวมวลขายเข้าโรงไฟฟ้าได้ด้วย โดยราคาไม้ท่อนเฉลี่ย 600 บาทต่อตัน ส่วนไม้สับ 900-1,300 บาทต่อตัน วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาการต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้ ซึ่งต่างจากรูปแบบปัจจุบันที่เอกชนเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว และเกษตรกรก็เป็นเพียงผู้ขายวัตถุดิบให้เท่านั้น
สถาบันค้นคว้าฯ ทำการศึกษาด้านไม้โตเร็วและพืชพลังงาน ได้รับทุนสนับสนุนจาก กฟผ.และ สกว. อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 มีผลงานวิจัยที่เสร็จแล้ว 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการศึกษาศักยภาพพื้นดินเสื่อมโทรมในการปลูกไม้โตเร็วเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โครงการรวบรวมการปลูกไม้โตเร็วสำหรับจัดทำแผนที่นำทางงานวิจัยการปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน และโครงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพชีวมวลของหญ้าเนเปียร์เชิงพื้นที่เพื่อผลิตไฟฟ้า
ส่วนอีก 2 โครงการวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การศึกษาระบบปลูกและการจัดการไม้โตเร็วในการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลบนพื้นที่ดินเสื่อมโทรม และการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการปลูกยูคาลิปตัสร่วมกับมันสำปะหลังในระบบวนเกษตรในพื้นที่ดินเสื่อมโทรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกไม้โตเร็ว คือพื้นที่เสื่อมโทรม โดยกระถินณรงค์และกระถินเทพาเหมาะกับพื้นที่ที่มีปริมาณฝนมาก ส่วนไม้ยูคาลิปตัสเหมาะกับพื้นที่แห้งแล้งแถบอีสาน และถ้าพื้นที่เป็นด่าง เช่น ลพบุรี สระบุรี จะเป็นกระถินยักษ์

ดูแลง่ายให้ผลตอบแทนเร็ว

มะลิวัลย์ กล่าวอีกว่า สปก.ก็เป็นอีกหน่วยงานที่เล็งถึงความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้โตเร็ว ป้อนให้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงดังกล่าว เป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคง เป็นฐานของความยั่งยืน จึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้โตเร็วอย่างน้อย 20% ของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เสื่อมโทรม ซึ่งมีประมาณ 4 ล้านไร่ทั่วประเทศ แม้จะได้ผลผลิตที่ไม่มากเท่าพื้นที่ดินอุดมสมบูรณ์ดี แต่ก็ให้ผลผลิตดีกว่าพืชเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง หลายเท่าตัว ลดความเสี่ยง และทำให้ดินค่อยๆ ดีขึ้นในอนาคต

สำหรับการปลูกไม้โตเร็วนั้น ปีแรกจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างมากทั้งการเตรียมพื้นที่ กล้าไม้และการปลูก คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 5,000 บาทต่อไร่ ผลตอบแทนไร่ละ 2,000-3,000 บาทในกรณีที่สภาพดินสมบูรณ์ และลดเหลือ 1,000-1,500 บาทในพื้นที่ดินแห้งแล้ง และระยะเวลาให้ผลผลิตต่อรอบประมาณ 2 ปี ตัดและแตกหน่อขึ้นใหม่ได้ 3-5 ครั้ง
"พันธุ์ไม้โตเร็วเหล่านี้ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ กระทั่งสามารถให้ผลผลิตได้ตามเป้าหมาย ทำให้เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอ แต่ถ้าเป็นพันธุ์ไม้ที่ยังไม่ได้ปรับปรุงพันธุ์จะเสี่ยงกับผลตอบแทนที่ไม่สม่ำเสมอ” นักวิจัยกล่าว