กสทฯกุมขมับ“เจวี”ดีแทคไม่คืบนับปี

กสทฯกุมขมับ“เจวี”ดีแทคไม่คืบนับปี

ซีอีโอกสทฯระบุแผนร่วมจอยซ์ เวนเจอร์กับดีแทคโอนกรรมสิทธิ์เสาโทรคมฯ-สางคดีข้อพิพาทไร้สัญญาณจากภาครัฐนานนับปี เร่งส่งหนังสือถามกระทรวงดีอีติดขัดข้อกฎหมายตรงส่วนใด ระบุโมเดลธุรกิจที่เคยคาดอาจไม่เหมือนเดิม ส่อทำองค์กรขาดทุนปีนี้กว่า 5,000 ล้านบาท 

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม เปิดเผยว่า การเจรจากับคู่สัมปทานตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐ วิสาหกิจ (คนร.) มีมติให้เร่งเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับเอกชน เพื่อให้มีการบริหารจัดการทรัพย์สินตามสัมปทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในส่วนของบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่ คนร.เห็นชอบการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับดีแทคในรูปแบบการร่วมลงทุน (จอยซ์ เวนเจอร์ หรือ เจวี) ที่ทำความตกลงร่วมกันว่า ดีแทคจะโอนกรรมสิทธิ์ในเสาและอุปกรณ์ที่พิพาทให้แก่ กสทฯ เพื่อระงับข้อพิพาทต่างๆ นั้นยังไม่มีความคืบหน้ามา 1 ปีแล้ว และยังไม่ได้ข้อสรุป

อย่างไรก็ตาม กสทฯ ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อจะดำเนินการสอบถามถึงประเด็นข้อกฏหมายว่าติดขัดประเด็นปัญหาอะไรเนื่องจากเป็นการแก้ไขสัญญาสัมปทาน อีกทั้งสัญญาสัมปทานระหว่างกสทฯ และดีแทคจะสิ้นสุดในปี 2561

“หากมีการร่วมทุนกับดีแทคเข้ามาก็จะส่งผลทำให้ กสทฯ กลับมามีรายได้และไม่ประสบปัญหาการขาดทุน ซึ่งเมื่อไม่มีรายได้จากตรงนี้เข้ามา 6 เดือนที่ผ่านมา กสทฯ ขาดทุนแล้ว 6,000 ล้านบาท และคาดว่าจะขาดทุนทั้งปีราว 5,000 ล้านบาท ครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่กสทฯจะประสบภาวะดังกล่าว"

ทั้งนี้ การร่วมทุนจอยซ์ เวนเจอร์ ระหว่างกสทฯ และดีแทค จะได้ประโยชน์จากการไม่ต้องลงทุนสร้างเสาเพิ่ม และจะไม่ซ้ำซ้อน โดยกสทฯจะนำเสาโทรคมนาคม 1.3 หมื่นต้น และลงเงินทุน ส่วนดีแทคเลือกลงทุนด้วยเสาที่สร้างเองหรือใช้เงินลงทุนมาลงด้วย แล้วเปิดให้ผู้ให้บริการโอเปอเรเตอร์ ทุกรายเช่าใช้เหมือนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เน้นระดมทุนจากภายนอก แต่เปิดให้นำไปรวมกับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (อินฟราสตรัคเจอร์ โฮลดิ้ง) ตามนโยบายรัฐบาลได้

เขา ระบุอีกว่า ในการโอนและนำเสาและอุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์นั้น มีเงื่อนไขว่า กสทฯ และดีแทคจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้น 2 บริษัทได้แก่ บริษัทเสา และ บริษัทไฟเบอร์ โดย กสทฯ จะโอนขายเสา และอุปกรณ์สินทัพย์ ให้แก่บริษัทเสา และโอนขายสายไฟเบอร์ให้แก่บริษัทไฟเบอร์ โดยดีแทคจะเป็นผู้เช่าระยะยาวกับบริษัทร่วมทุนทั้งสอง และ กสทฯ จะถือหุ้น 49% และดีแทคจะถือหุ้น 51% ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว กสทฯจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินช่วยสร้างรายได้ทั้งในทันทีและในระยะยาวได้