สนช.มติเป็นเอกฉันท์แล้ว กสม.ไม่รอดโดนเซ็ตซีโร่

สนช.มติเป็นเอกฉันท์แล้ว กสม.ไม่รอดโดนเซ็ตซีโร่

มติสนช.เอกฉันท์ผ่านร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยกสม. หลังกมธ.3ฝ่ายแก้ไข ยันเซ็ตซีโร่กสม.

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม) พ.ศ.. ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาฯ (กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานฯได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาข้อโต้แย้ง 6 ประเด็นที่กสม.ได้โต้แย้งว่าร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 8 ที่กำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของกกรมการกสม.เกินกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 246 วรรคสอง 2.ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา 11 วรรคห้า ที่กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่ทีมีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจไปพลางก่อนได้ ในกรณีที่พ้นกำหนดเวลาเลือกกรรมการสรรหาตาม(6)แล้ว ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งในส่วนของผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนตาม(4)ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 246 วรรคสี่

3.การกำหนดให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่แต่ในเฉพาะกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นการจำกัดหลักการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม 4.หน้าที่และอำนาจของกสม.ในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามร่างมาตรา 34 ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ ตามอารัมภบทของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 247(1) 5.การกำหนดให้คณะกรรมการต้องตรวจสอบและชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชัดช้า ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการการรายงายสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ทำให้คณะกรรมการขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ และ6 การกำหนดให้ประธานและกรรมการ กสม.พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใช้บังคับ

ทั้งนี้กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายได้แก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพียง 1 ประเด็นจาก 6 ประเด็น โดยประเด็นที่แก้ไขคือ มาตรา 11 วรรคห้า เกี่ยวกับการทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหา โดยในการสรรหาจะต้องให้มีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วยอย่างน้อย 1 คน จากร่างเดิมกำหนดหากกรรมการสรรหาไม่ครบก็ให้กรรมการสรรหาเท่าที่ได้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เลย ส่วนอีก 5 ประเด็นที่เหลือไม่มีการแก้ไข โดยยังให้มีการเซตซีโร่กสม.ตามร่างผ่านความเห็นชอบของ สนช.ไปแล้ว

ทั้งนี้ นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับการเซตซีโรกสม.ว่า การกำหนดเนื้อหาตามมาตรา 60 ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะการจะให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแบบรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 เพื่อให้กฎหมายมีความแน่นอนและไม่เกิดปัญหาในการตีความ

ประธาน กสม. กล่าวว่า การพิจารณาในปัญหานี้ต้องมีการชั่งน้ำหนัก ระหว่างเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกรณีของกสม.เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วไม่ได้เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด เพราะการจะให้กฎหมายมีผลย้อนหลังจะต้องคุ้มครองความสุจริตของกสม.ที่เข้ามาในตำแหน่งตอนแรกโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีด้วย ดังนั้น จึงเห็นว่าควรแก้ไขมาตรา 60 ด้วยการกำหนดให้คนที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญก็กสม.ให้พ้นจากตำแหน่งเฉพาะรายไป

ขณะที่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการกรธ. ชี้แจงว่า กรธ.เห็นว่า การที่ สนช. พิจารณามาตรา 60 สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่าให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ องค์กรอิสระที่ดำรงตำแหน่งก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้ทำหน้าที่ต่อไป แต่ให้เป็นไปตามที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งสาเหตุที่รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติไว้เช่นนี้ เนื่องจากในอดีตเรามีปัญหามากมาย จึงต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมของประเทศไทยตามคำปรารภในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน กรธ.ได้ศึกษารายงานของคณะอนุกรรมการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Sub-Committee on Accreditation หรือ SCA ) ซึ่งได้เตือนไทยว่าสถานะของกสม.จะถูกลดลงหากยังไม่สามารถทำตามหลักการปารีสภายใน 1 ปี ซึ่งสาเหตุมาจากกระบวนการสรรหากสม.ตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ไม่มีความหลากหลาย พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้กสม.ปฏิบัติตามข้อกังวลดังกล่าวด้วย

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้กรธ.ต้องเร่งแก้ไขปัญหา และการกำหนดเช่นนี้ไมได้เป็นการให้กฎหมายมีผลย้อนหลังที่เป็นโทษแต่อย่างใด เพราะในทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้อยู่แล้ว นายปกรณ์ กล่าว

จากนั้นที่ประชุมได้มติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 177 งดออกเสียง 5 เห็นชอบรายงานการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม) พ.ศ.. ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาฯ(กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย)ที่ได้แก้ไข โดยขั้นตอนต่อไปจากนี้จะส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป