สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาสู่ตลาดโลก

สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาสู่ตลาดโลก

ยารักษาหวัดในระยะที่มีอาการเริ่มแรกไม่เกิน 48 ชั่วโมงจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เป้าหมายของแผนขับเคลื่อนสมุนไพรแห่งชาติ

ยารักษาหวัดในระยะที่มีอาการเริ่มแรกไม่เกิน 48 ชั่วโมงจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เป้าหมายของแผนขับเคลื่อนสมุนไพรแห่งชาติ แบ็กอัพด้วยผลงานวิจัยจากราชวิทยาลัยอายุแพทย์ฯ ที่กำลังศึกษาทดสอบใน 7 โรงพยาบาลศูนย์ อีกทั้งเสริมความเชื่อมั่นด้วยการประกาศรับรองให้เป็นสุดยอดสมุนไพรต้านหวัดจากองค์การอนามัยโลก


แนวโน้มของตลาดยาสมุนไพรและความต้องการใช้มีมากขึ้นตามความนิยมของผู้บริโภคทั่วโลก ประกอบกับประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านการมีทรัพยากร รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านตำรับยาหลายชนิด ส่งผลให้การขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ส่งผลให้ภาครัฐและภาคเอกชนเห็นถึงโอกาสและความสำคัญในการพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย และเป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย


ต้านหวัดด้วยฟ้าทะลายโจร


สัดส่วนค่ายา 98% เป็นยาแผนปัจจุบันที่นำเข้าจากต่างประเทศ แม้ว่าบางส่วนอาจจะผลิตจากโรงงานในประเทศ แต่สารตั้งต้นต้องสั่งนำเข้า เหลือแค่ 2% เท่านั้นที่เป็นยาจากสมุนไพรไทยที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย แม้ว่าหลายหน่วยงานมีความพยายามผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร แต่มักจะขาดความมุ่งมั่นในการวิจัยพัฒนาอย่างจริงจัง ทำให้ขาดความต่อเนื่อง รวมถึงขาดการสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ยาแผนปัจจุบันยังตัวเลือกอันดับแรกของผู้บริโภค


ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำโปรแกรมวิจัยยาให้แพทย์นำไปใช้เพื่อสร้างความมั่นให้กับคนไข้และงานวิจัยที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการคือการนำฟ้าทะลายโจรมารักษาหวัดในระยะแรกไม่เกิน 48 ชั่วโมง โดย ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานราชวิทยาลัยอายุแพทย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คนจากโรงพยาบาลศูนย์ 7 แห่งทั่วประเทศ คาดว่าจะ รู้ผล ส.ค.2561 งบประมาณ 5 ล้านบาท ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติ


ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพมากในตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรโลก เนื่องจากเป็นประเทศเขตร้อน มีความหลากหลายทางชีวภาพ และติดอันดับ 8 ของโลกที่มีอัตราการเติบโตด้านผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ขณะที่ประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็น 90% ของโลก ได้แก่ จีน อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีและเยอรมนี ฉะนั้น แนวทางขับเคลื่อนสมุนไพรไทยให้ติดอันดับ 1ใน 5 ก็คือการทำงานวิจัยเข้ามาสนับสนุนในทุกมิติ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ “เป็นหน้าที่นักวิจัยรุ่นใหม่ที่จะศึกษาพัฒนาสายพันธุ์ ควบคุมพื้นที่ปลูก การอนุรักษ์เพราะสมุนไพรบางชนิดปลูกไม่ได้ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ แต่ปัญหาสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นในการรับประทานสมุนไพรไทย”


ขับเคลื่อนสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ


ภญ.มณฑกา กล่าวว่า งบกลางปีที่ผ่านมา รัฐบาลจัดสรรเพื่อพัฒนาสมุนไพรประมาณ 1,300 ล้านบาทลงไปในพื้นที่เพาะปลูก 600-700 ล้านบาท งบวิจัย 20-30% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมาที่จัดสรรไม่เกินปีละ 300 ล้านบาท ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ เห็นชอบเพิ่มงบวิจัยตาม(ร่าง) กรอบการลงทุน นำเสนอนายกรัฐมนตรีขอวงเงินสนับสนุน 5,000 ล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี 80% ของงบเป็นการลงทุนวิจัยที่เชื่อมโยงต้นทาง กลางทางและปลายทาง อีก 20% เป็นการลงทุนโครงสร้าง ได้แก่ คน ระบบ สถานที่ ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ อาทิ ยา อาหารเสริม อาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ คาดว่า หลังจากจบแผนจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสมุนไพรไทยได้ 3.6 แสนล้านบาทจากเดิม 1.8 แสนล้านบาท


“สมุนไพรไทยจึงเป็นการตอบโจทย์เรื่องความมั่นคง มั่งคั่งและความยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล โดยอาศัยงานวิจัยซึ่งกว่าจะสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้าน เริ่มตั้งแต่โจทย์วิจัยจนถึงนโยบายประเทศ และการนำภูมิปัญญาไทยเข้ามาผสมผสาน จึงจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมานำเสนอเพื่อทดแทนการนำเข้ายาต่างประเทศ” ภญ.มณฑกา กล่าว