ไฟเขียวร่างแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับ 3

ไฟเขียวร่างแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับ 3

"ครม." อนุมัติร่างแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับ 3 หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุน เปิดทางระดมทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความสามารถแข่งขัน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 ปี 2560-2564 เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการได้อย่างเป็นระบบต่อเนื่อง โดยการดำเนินการนั้น มีทั้งหมด 5 มาตรการ และแบ่งเป็น 14 มาตรการย่อย และแผนงานสนับสนุน 44 แผนงาน

สำหรับมาตรการแรก คือ การเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเอสเอ็มอี และนวัตกรรม ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี เช่น กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ กลุ่มผู้ที่มีความรู้ความคุ้นเคยเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงินอย่างฟินเทค โดยแผนงานย่อยนั้น จะออกเกณฑ์เพื่อพัฒนาเครื่องมือการระดมทุนของกิจการจากบุคคลจำนวนมากด้วย สำหรับตราสารหนี้และการให้กู้ยืมโดยใช้สัญญาเงินกู้ผ่าน Social Media/Platfrom จัดทำกลไก Credit Scoring ให้แก่เอสเอ็มอี สนับสนุนการจับคู่ธุรกิจ เป็นต้น

มาตรการที่ 2 คือ การเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การเพิ่มรูปแบบการระดมทุนแบบ PPP ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยจะปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพิ่มขนาดตลาดทุนไทย โดยการแก้ไขกฎหมายให้หน่วยงานสามารถนำส่วนแบ่งรายได้จากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานมาเข้ากองทุนได้ แก้เกณฑ์รองรับการตั้งไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ปรับปรุงเกณฑ์ภาษีต่างๆ

มาตรการที่ 3 คือ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุนด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้กับคู่แข่งในต่างประเทศ และดูแลให้ประชาชนมีโอกาสและทางเลือกในการเข้าถึงช่องทางลงทุนในต้นทุนที่เหมาะสม และได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบธุรกิจ และจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดต้นทุนให้กับนักลงทุน เช่น การแก้ไขกฎหมายการควบรวมกิจการ การแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว การแก้ไข พ.ร.บ.บริษัทมหาชนให้ บมจ.ออกหุ้นกู้โดยไม่ต้องขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

การแก้ไขการอออก Covered Bond กฎหมายทรัสต์เพื่อบุคคล นิติบุคคล และการขยายขอบเขตการให้บริการหลังจากซื้อขายหลักทรัพย์ ในการด้านการให้บริการหลักประกันข้ามตลาด เป็นต้น รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เพื่อให้สมาชิกซื้อขายผ่านระบบทางเลือกได้ แก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ เพื่อให้การเปิด Trading access เป็นการตัดสินใจของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเชื่อมโยงตลาดอื่นๆ เป็นต้น

มาตรการที่ 4 คือ การพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค เพื่อส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน เชื่อมโยง และเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของภูมิภาค

ด้านมาตรการที่ 5 คือ การมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจุบันระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุของไทยยังมีข้อจำกัด เช่น ไม่ครอบคลุมการออมของแรงงานอย่างทั่วถึง รายได้มเพียงพอ เป็นต้น