กระทรวงดีอีดัน“สมาร์ทวีซ่า”หนุนอุตฯดิจิทัล

กระทรวงดีอีดัน“สมาร์ทวีซ่า”หนุนอุตฯดิจิทัล

คาดได้ใช้แน่ต้นปีหน้า หลังครม.ไฟเขียวหนุนแผนพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล เปิดทางให้ผู้เชี่ยวชาญ-เหล่าสตาร์ทอัพเข้ามาลงทุน พำนักในไทยได้สะดวกมากขึ้น เชื่อเกิดอานิสงส์หลายมิติ พร้อมแถลงความพร้อมงาน "Digital Thailand Big Bang 2017"

ดีอีดัน“สมาร์ทวีซ่า”หนุนอุตฯดิจิทัล

-คาดเริ่มใช้ต้นปี'61เปิดทางสตาร์ทอัพ-นักลงทุนอยู่ไทยนานขึ้น

กระทรวงดีอีคาดสมาร์ทวีซ่าได้ใช้แน่ต้นปีหน้า หลังครม.ไฟเขียวหนุนแผนพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศ เปิดทางให้ผู้เชี่ยวชาญ-เหล่าสตาร์ทอัพเข้ามาลงทุน พำนักอาศัยในไทยได้สะดวกมากขึ้น เชื่อเกิดอานิสงส์หลายมิติทั้งการภาคเงิน ท่องเที่ยว การเกษตร พร้อมแถลงความพร้อมงานดิจิทัล บิ๊กแบง 21-24 ก.ย.นี้ เชื่อยอดคนเข้าชมกว่าแสนราย 

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบจัดทำเรื่องสมาร์ทวีซ่า ตามที่กระทรวงดีอีได้นำเสนอเพื่อนำผู้ประกอบการดิจิทัล ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้าสู่ระบบกำลังคนดิจิทัลของอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาคนในประเทศอีกทางหนึ่ง โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ดำเนินการเรื่องหลักเกณฑ์ของการตรวจรับรองผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ ได้ให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) จัดทำฐานข้อมูลกลุ่มนี้ เพื่อสามารถเปลี่ยนวีซ่าเป็นประเภทผู้เชี่ยวชาญและทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งจับคู่กับนักลงทุนที่ต้องการ ซึ่งสตาร์ทอัพ เป็นกลุ่มที่สำคัญ ต้องมีการต่อยอดในหลายมิติไม่ใช่เฉพาะเรื่องเทคโนโลยี หรือ การเงินเท่านั้น แต่ในภาคการเกษตร ภาคท่องเที่ยว และอาหาร ก็ต้องสนับสนุนให้เท่ากันเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ต้นปี 2561

“เราจะอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เข้ามาประกอบกิจการในไทย เช่น มีวีซ่า 2-4 ปี มาแสดงตัวเพียงละ 1 ครั้ง หรือมีการแสดงตัวผ่านช่องทางออนไลน์ และจะช่วยแก้ปัญหาขาดกำลังคนดิจิทัลระยะสั้นพร้อมๆ กับนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งเข้าประเทศ จากที่ไทยไม่เคยมีรายได้ในส่วนนี้ รวมถึงยังเป็นการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐตะวันออก (อีอีซี) ” รัฐมนตรีดีอี กล่าว

พร้อมกันนี้ นายพิเชฐ ยังแถลงความพร้อมในการจัดงานดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2017 ระหว่าง 21-24 ก.ย.นี้ โดยคาดว่าตลอดทั้งงานมีผู้เข้าร่วมชมมากกว่า 1 แสนราย ซึ่งในส่วนของภาครัฐจะนำเสนอความคืบหน้าโครงการสำคัญที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ โครงการ เน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน สมาร์ท ซิตี้ 77 จังหวัด ภายในระยะเวลา 20 ปี โดยขณะนี้สำเร็จไปแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา การสร้างแนวทางพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีความสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างฉลาดในการประกอบอาชีพ มุ่งสู่ฮับเครือข่ายทางดิจิทัลเทคกับริษัทชั้นนำที่ครอบคลุมทั่วโลก ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลของอาเซียน ทั้งบิ๊ก ดาต้า และ ดิจิทัล แมนพาวเวอร์ และจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์)

สำหรับความคืบหน้าในการจัดงานองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายของสตาร์อัพใน 165 ประเทศทั่วโลกได้ตอบรับมาร่วมงานและได้นำสตาร์อัพมากกว่า 15 ประเทศทั่วโลกและมีการจำลองเมืองอัจฉริยะผ่านเทคนิคการฉายภาพหลายมิติลงบนเมืองจำลอง แสดงนวัตกรรมดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาลทั้งในเมืองและชนบท นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบพื้นที่ ซึ่งรวมดิจิทัลอะคาเดมี่ แหล่งที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ และพื้นที่แห่งนวัตกรรมดิจิทัลไว้ด้วยกัน พร้อมเรียนรู้เรื่องราวความน่าสนใจของดิจิทัลพาร์คแห่งแรกของประเทศ