เดอะมอลล์จัดทัพ‘ทีม4.0’สู้ศึกค้าปลีก-ลูกค้ายุคไร้รูปแบบ

เดอะมอลล์จัดทัพ‘ทีม4.0’สู้ศึกค้าปลีก-ลูกค้ายุคไร้รูปแบบ

คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาทุกทิศทาง ทำให้กลุ่มทุนค้าปลีกรายใหญ่ของไทย “เดอะมอลล์กรุ๊ป” ต้องหันกลับมายกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่ เรียกว่า "เอ็ม ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ในรอบ 3 ทศวรรษ  

โดยเฉพาะกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน รับมือแรงกระเพื่อมและการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมค้าปลีก อย่าง “บุคลากร” ได้วางรากฐานทีมผู้บริหาร “คนรุ่นใหม่” เข้ามาผสานต่อยอดประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า เพื่อก้าวเข้าสู่ ค้าปลีก การตลาด และ ผู้บริโภค “ยุค 4.0” อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ

เดอะมอลล์ มีทีม 4.0 เข้ามาเชื่อมต่อโลกการค้าและผู้บริโภคยุค  4.0 ด้วยการตลาด 4.0”

ชำนาญ เมธปรีชากุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้บริหารยุคบุกเบิก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยแนวคิดของคนรุ่นใหม่

เดอะมอลล์มุ่งขับเคลื่อนองค์กรและปรับแนวคิดการบริหารงานการตลาด ด้วยการผสมผสานแนวคิดผู้บริหารรุ่นใหม่และรุ่นเก่า  ที่แน่นอนว่าคนสองรุ่นย่อมมี “ความเห็นต่าง” ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ที่มีผลต่อความลื่นไหลในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ชำนาญ ย้ำว่า ต้องมี “พื้นที่” ให้คนรุ่นใหม่ได้คิดและนำเสนอทางเลือกใหม่ได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การทำงานใหม่ของคนรุ่นเก่าเพื่อก้าวไปพร้อมกับสัดส่วนของคนรุ่นใหม่ในองค์กรที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้   

ทีมผู้บริหารคนรุ่นใหม่ของเดอะมอลล์ ภายใต้ “ทีม 4.0”  ทยอยก้าวขึ้นมามีบทบาทในแต่ละภาคส่วน พร้อมมองหาผู้บริหารระดับต้นและกลางเข้ามาเสริมทัพ ขณะที่ทีมปฎิบัติการไล่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป หรือ เพิ่งจบการศึกษาเริ่มต้นทำงานที่เข้ามาในส่วนของดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง, อินเตอร์เนชั่นแนล มาร์เก็ตติ้ง, โปรโมชั่น, เครดิตการ์ด ซึ่งล้วนแล้วต้องการ “ไอเดีย” ของคนรุ่นเดียวกันเพื่อทำการตลาดเจาะตรงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ผู้บริโภคยุคใหม่มีพลังของข้อมูลข่าวสาร รู้ลึก รู้จริง ด้วยทางเลือกมากมายมหาศาล ทำให้มีความต้องการที่เรียกว่า ไร้รูปแบบ เป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการทำตลาดที่ไม่สามารถคาดเดาได้ นักการตลาดจึงต้องพร้อมเชื่อมโยงเครื่องมือทุกส่วนทั้งออฟไลน์ออนไลน์ อนาคตจะโนไลน์ด้วยซ้ำ เพื่อเข้าถึงลูกค้ามามาแบบไร้รูปแบบ”

เชื่อว่า ความเชี่ยวชาญของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีต่อสื่อหรือเครื่องมือทางการตลาดใหม่อย่าง โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ไลน์ อีเพย์เมนท์ อีวอลเล็ต คลิกแอนด์คอลเล็ค ดีลิเวอรี่ ฯลฯ เมื่อผนวกกับ “ประสบการณ์ทางการตลาด” ของผู้บริหารรุ่นเก่าจะสร้างความได้เปรียบในการพลิกกลยุทธ์ตอบรับสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างทันท่วงที

ทีม 4.0” อย่าง กฤชคุณ พรธนนันท์ ผู้จัดการทั่วไป Marketing The Mall/Paragon/Bluport  มีประสบการณ์จากแวดวงเอเยนซี และแบรนด์สินค้าซุง กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมลูกค้าขณะนี้ได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยี ดังนั้นการพัฒนาสินค้า บริการ และองค์ประกอบการต่างๆ ภายในห้างสรรพสินค้า จะต้องเชื่อมโยงกับลูกค้าเป็นตัวตั้ง ยกตัวอย่าง ลูกค้ายุคใหม่มีข้อมูลก่อนมาซื้อสินค้า จะต้องปรับบทบาทของพนักงานอย่างไรไม่ใช่แค่ขายสินค้าที่ลูกค้าอาจมีข้อมูลมากกว่า

ลูกค้ายุคใหม่เน้นความเร็ว สะดวก เป็นกุญแจสำคัญของผู้ค้าปลีกที่ต้องสปีดอย่างมาก คิดได้ต้องทำให้เร็ว เพราะใคร (คู่แข่ง) ก็คิดได้อยู่ที่ความเร็วของการนำมาใช้และตรงใจลูกค้า คือ ความได้เปรียบ” 

ผ่านงานเอเยนซี และคอนซูเมอร์โปรดักท์ มาเช่นกันสำหรับ สาลวิท สุวิพร ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป Marketing Emporium & Emquartier กล่าวว่า การทำตลาดมีลักษณะคล้ายความสัมพันธ์ของคน 2 คน เชื่อมกันด้วย “ความรู้สึก” ที่ผู้ค้าปลีกต้องตอบสนองความพึงพอใจสูงสุด ขณะที่ฐานลูกค้าเอ็มโพเรียมและเอ็มควอเทียร์ซึ่งมีความรู้ มีบิ๊กดาต้า และเลือกสรรสินค้ามากกว่าปกติ แน่นอนว่า รูปแบบการนำเสนอและการเข้าหาต้องแตกต่างจากปกติ 

ต้องสร้างประสบการณ์ขั้นสูงสุดอย่างที่มีเคยทำมาก่อน นักการตลาดไม่ใช่แค่ตามเทรนด์ แต่ต้องครีเอทเทรนด์ให้ได้”

 ขณะที่ ผู้บริหารรุ่นใหม่ดูแลกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากแวดวงเอเยนซีและดูแลลูกค้าคอนซูเมอร์โปรดักท์มาก่อน   รุ่งนภา ไตรวิทยานุรักษ์ ผู้จัดการทั่วไปการตลาด Gourmet Market & Home Fresh Mart ฉายภาพผู้บริโภครุ่นใหม่ว่า เปลี่ยนเร็ว!! ดังนั้น การทำตลาดต้องไม่ยึดติด ภายใต้การแสวงหาแนวทางการตลาดใหม่รองรับไลฟ์สไตล์-สร้างประสบการณ์ใหม่ ให้กับลูกค้าผ่านสินค้าและบริการต่างๆ 

ลูกค้ามาไร้รูปแบบมากขึ้น เราต้องทำสินค้าและบริการให้อยู่ในทุกที่ และถูกที่ถูกทางสามารถหยิบจับ หรือเลือกใช้บริการได้ในทันทีที่ต้องการ” 

ทุกกลยุทธ์ต้องอยู่บนพื้นฐานของ “ความเร็ว” เพื่อไม่ให้ตกกระแส เพราะช้าเพียง “เสี้ยววินาทีเดียว” อาจหมายถึงยอดขายที่หลุดลอยแบบกู่ไม่กลับก็เป็นได้