'แพทยสภา'ชี้เป็นหน้าที่'ศิริราช'ตัดสินคดีนศ.แพทย์

'แพทยสภา'ชี้เป็นหน้าที่'ศิริราช'ตัดสินคดีนศ.แพทย์

"โฆษกแพทยสภา" ชี้เป็นหน้าที่ "ศิริราช" พิจารณากรณีนักศึกษาแพทย์วางยาสุนัข เผย "พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมฯ" ระบุชัดผู้เคยต้องโทษหมดสิทธิ์

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีนักศึกษาแพทย์วางยาฆ่าสุนัขเพื่อเอาเงินประกันการขนส่งว่า เรื่องจริยธรรมของนักศึกษาไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทยสภาโดยตรงแต่ปัจจุบันทางแพทยสภาก็มีการตั้งอนุกรรมการจริยธรรมนักศึกษาแพทย์ขึ้นมาโดยทำงานร่วมกับอาจารย์ประจำสถานศึกษาต่างๆ กรณีนักศึกษาแพทย์ดังกล่าว นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งก็ดำรงตำแหน่งเป็นนายกแพทย์สภาอยู่ในขณะนี้ด้วย ก็จะดูแลพิจารณาในประเด็นดังกล่าวอย่างยุติธรรม โดยชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบต่อตัวนักศึกษาแพทย์คนดังกล่าวและชั่งน้ำหนักด้วยว่าอนาคตจะเกิดปัญหากับผู้ป่วยอย่างไรหรือไม่

"แม้ในช่วงของการเป็นนักศึกษาแพทย์การดูแลจริยธรรมจะเป็นเรื่องของสถานศึกษาเป็นหลัก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแพทยสภา แต่การสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อเป็นแพทย์นั้นตามพ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ 2525 มีข้อหนึ่งระบุว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยต้องโทษ จำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือถูกคำสั่งตามกฎหมายให้จำคุก เช่นในอดีตก็เคยมีคดีแพทย์ลงมือฆ่าผู้ป่วยหรือฆ่าผู้ใกล้ชิด เป็นต้น ส่วนถ้าเป็นกรณีขับรถชนผู้อื่นเสียชีวิตโดยที่ไม่ได้เจตนาก็จะไม่เข้าข่ายตามนี้" โฆษกแพทยสภา กล่าว

เมื่อถามถึงปัญหาทางด้านจริยธรรมของนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง แพทย์หญิงชัญวลี กล่าวว่า เรื่องนี้ นับเป็นปัญหามากในหลายๆอย่าง อย่างกรณีจริยธรรมนักศึกษาแพทย์ ก็มีเข้ามาบ้างแต่แพทย์สภาก็ให้สถานศึกษาเป็นผู้ดูแล

อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะมีหลายๆอย่างที่กดดัน เพราะนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ ก็จะเป็นพวกหัวกระทิอันดับต้นๆ ของชั้นเรียนเมื่อมาเจอพวกหัวกะทิด้วยกันเองความกดดันก็จะสูง ทำให้เกิดความเครียด ได้ ซึ่งมีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า นักศึกษาแพทย์กว่าร้อยละ 20 มีปัญหาทางด้านจิตใจและอีกกว่าร้อยละ 20 มีปัญหาถึงขั้นเสี่ยงฆ่าตัวตาย ซึ่งในชั้นปีที่ 1 อาจจะยังไม่ปรากฏแน่ชัดเพราะ เมื่อเข้ามาแล้วนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ยังไม่ได้พบเจอคนไข้ยังไม่ได้มีการออกตรวจ แต่ในช่วงปีท้ายซึ่งจะมีการออกตรวจผู้ป่วยอย่างจริงจังนั้นสภาพการทำงานต่างๆ อาจจะเป็นตัวกดดัน บางคนอาจจะไม่ชอบทำให้เกิดภาวะความเครียดได้ ทั้งนี้ ในอาจารย์แพทย์ที่สอนนักศึกษาแพทย์เหล่านี้จะมีอาจารย์ด้านจิตแพทย์คอยดูแลและคัดกรองอยู่เช่นเดียวกันบางคนสามารถแก้ไขได้บางคนอาจจะต้องไปทำอย่างอื่นแทน เป็นต้น